กีบม้าลมเป็นไม้เกาะเลื้อยอิงอาศัย มียางขาว ลำต้นเล็กรากออกตามข้อเป็นกระจุก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปคล้ายกระทะคว่ำ ขอบแนบกับผิวพื้นที่ขึ้น กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. ปลายเว้าตื้น ๆ โคนตัด มองไม่เห็นเส้นใบแต่มักมีแถบสีม่วงแกมเขียวจากโคนใบจนถึงประมาณกึ่งกลางใบ ใต้ใบสีม่วงขอบสีเขียวอ่อน ก้านใบยาวประมาณ ๑ มม. อยู่ลึกเข้าไปทางด้านล่างประมาณ ๑ มม. ทำให้โคนใบทั้งคู่เกยปิดลำต้น ในสภาวะแห้งแล้งเกยกันมากขึ้น
ช่อดอกออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๔ ซม. ปลายก้านมักแยกเป็นแกนช่อดอก ๒-๔ แกน ดอกเล็ก สีนวลหรือเหลือง ออกที่บริเวณปลายสุดของแกนครั้งละ ๑-๕ ดอก ดอกออกที่ปลายแกนช่อดอกเดิมได้หลายครั้ง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๓ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอกติดกันเป็นรูปไข่ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกลึกประมาณ ๑ มม. ด้านในของแฉกเป็นสัน มีขนยาวสีขาว ชี้ลงเส้าเกสรประกอบด้วยรยางค์ ๕ อัน สีนวลอมน้ำตาลอ่อน ติดกันเป็นรูปกรวยคว่ำ กลุ่มเรณูติดกันเป็นคู่ ก้านกลุ่มเรณูแบนและใส แผ่นยึดก้านสีน้ำตาลเข้ม รังไข่มี ๒ อัน แยกกัน แต่ติดกันตรงปลาย
ฝักรูปทรงกระบอก ยาว ๒-๓ ซม. ฝักแก่แตกแนวเดียวมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก มีขนยาวเป็นพู่สีขาวที่ปลายด้านหนึ่ง
กีบม้าลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าสน ตลอดจนป่าชายเลน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ต้นใช้แก้อักเสบ ปวดบวม ใบสดตำพอกแก้พุพอง (Quisumbing, 1951).