กิมกิ้ด

Fortunella japonica (Thunb.) Swingle

ชื่ออื่น ๆ
กำกั๊ด (จีน)
ไม้พุ่ม มีหนาม ใบเป็นใบประกอบลดรูปเหลือ ๑ ใบ เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีต่อมน้ำมัน ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามง่ามใบ สีขาว กลิ่นหอม ผลแบบส้ม รูปกลมผลสุกสีเหลืองทอง

กิมกิ้ดเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. ลำต้นเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกเรียบและมีรอยแตกตามโคนต้น กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมตามง่ามใบมีหนามลักษณะตรงและถ่างออก

 ใบเป็นใบประกอบที่ลดรูปเหลือ ๑ ใบ เรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๙ ซม.


ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันจากปลายใบถึงกึ่งกลางใบ แผ่นใบหนาและมีต่อมน้ำมันจำนวนมาก ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว ๐.๖-๑ ซม.

 ดอกออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามง่ามใบ สีขาว กลิ่นหอม ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. เป็นข้อบวม ห้อยลง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยก ๕ แฉก ขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายกลีบอาจหยักเว้าและแผ่บานออก เกสรเพศผู้ประมาณ ๒๐ อัน อับเรณูรูปขอบขนาน สีเหลือง ก้านชูอับเรณูรูปลิ่ม เชื่อมกันเป็นกลุ่มประมาณ ๕ กลุ่ม สั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ค่อนข้างกลม มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอกและสั้นกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มครึ่งวงกลม สีเหลือง

 ผลแบบส้ม รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. ผลสุกสีเหลืองทอง รสหวานอมเปรี้ยว เปลือกหนา มีรสหวาน ลอกได้ง่าย มี ๔-๕ กลีบ แต่ละกลีบมี ๑-๓ เมล็ด

 กิมกิ้ดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดิมทางตอนใต้ของจีนและญี่ปุ่นในปัจจุบันนำไปปลูกกันตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ออกดอกระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม

 ผลกินได้ทั้งเปลือกนอกและเนื้อใน ใช้ประกอบอาหาร ทำผลไม้แช่อิ่ม แยม ให้วิตามินซีสูง ใช้ทำยาแก้ไข้ ลดอาการปวดบวม แก้เมารถ ลดแก๊สในกระเพาะอาหาร กำจัดกลิ่น และช่วยกระตุ้นให้สดชื่น ใบให้น้ำมันหอมระเหยใช้ทำน้ำหอม นิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับหรือไม้แคระ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กิมกิ้ด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Fortunella japonica (Thunb.) Swingle
ชื่อสกุล
Fortunella
คำระบุชนิด
japonica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Swingle, Walter Tennyson
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thunberg, Carl Peter (1743-1828)
- Swingle, Walter Tennyson (1871-1952)
ชื่ออื่น ๆ
กำกั๊ด (จีน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายทนงศักดิ์ จงอนุรักษ์