กินกุ้งน้อยเป็นไม้ล้มลุกสองปี สูง ๑๕-๕๕ ซม. ลำต้นตั้งหรือทอดเอนเลื้อยไปบนพื้นดินและมักออกรากตามข้อที่ติดดินลำต้นเรียบเกลี้ยง แตกกิ่งประปราย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปคล้ายใบหอก กว้าง ๐.๒-๑ ซม. ยาว ๑.๒-๑๐ ซม. กาบใบยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. เชื่อมติดกันเป็นหลอด เปิดตรงปลาย มีขนยาวทั่วไปและมีมากบริเวณขอบของปลายเปิด หรือค่อนข้างเรียบเกลี้ยง
ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ขนาดเล็ก แยกแขนง ๒-๖ แขนง แต่ละแขนงมี ๒-๕ ดอก สีม่วงน้ำเงินหรือม่วงอมชมพู ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ขนาดใกล้เคียงกัน รูปคล้ายใบหอกแกมรูปไข่ปลายมน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอก ๓ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับกว้าง กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้ ๖ อัน เป็นเกสรสมบูรณ์ ๒-๓ อัน และเป็นหมัน ๓-๔ อัน อับเรณูสีเหลือง ก้านชูอับเรณูมีขนยาวสีม่วง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๒-๔ มม. ปลายเป็นกระเปาะ มี ๒ พู
ผลแบบผลแห้ง รูปรี ยาว ๓-๕ มม. ภายในมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมี ๒ เมล็ด เมื่อแก่และแห้งจะแตกออกเป็น ๓ ซีก เมล็ดยาว ๑-๒ มม. ผิวขรุขระเป็นร่องและเป็นหลุม
กินกุ้งน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามริมคลองหรือที่ชื้นแฉะ ริมถนน บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแพร่ พันธุ์กว้างขวางในเขตร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้นของโลก
เป็นพืชที่ทนทั้งสภาพน้ำท่วมขังและทนแล้งได้ดี เป็นวัชพืชที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เป็นที่อาศัยของศัตรูพืชปลูกหลายชนิด เช่น เชื้อราชนิด Pythium arrhenomanes Drechs., ไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne sp., Pratylenchus pratensis (de Man) Filip. และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคใบด่างในพืชพวกแตงและขึ้นฉ่าย แม้จะเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงแต่ก็ยังมีประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วย โดยใช้กินเป็นผัก เป็นอาหารสัตว์ และเป็นสมุนไพร เช่น ไต้หวันใช้เป็นยาลดไข้ ลดอาการบวม ในอินโดจีนใช้รากลดไข้ในเด็ก แก้บิด แก้ปัสสาวะกระปริบกระปรอย ในมาเลเซีย ใช้ใบพอกแก้ปวด ในนิวกินีใช้ทั้งต้นแก้บิดและแก้เป็นหมัน (Perry and Metzger, 1980) แพร่พันธุ์ได้ง่ายด้วยเมล็ดและไหลออกดอกมากในช่วงปลายฤดูฝน ผลเริ่มแก่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป.