เขืองโทนเป็นไม้เถา ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยม ๓-๔ เหลี่ยม ช่วงระหว่างข้อยาว ๗-๓๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีหนามเล็ก ๆ ประปราย มีมือพันทั้งตามลำต้นและกิ่ง ยาว ๖-๒๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่กว้าง กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมและมีติ่งหนาม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม เส้นแขนงใบมี ๗ เส้น เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ๕ เส้น ๒ เส้นที่อยู่ริมนอกเห็นไม่ชัดเจน เส้นแขนงใบ ๓ เส้นที่อยู่ตรงกลางโคนเชื่อมกัน ห่างจากโคนใบ ๓-๗ มม. ก้านใบยาว ๐.๘-๓ ซม. โคนเป็นกาบกว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. ปลายเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายใบหู ยาวประมาณ ๑ มม. กาบและตอนล่างของแกนช่อดอกเป็นตุ่มหนาแน่น
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกทั้ง ๒ เพศ เป็นช่อแบบช่อกระจะรวมที่มีช่อย่อย ๆ แบบซี่ร่ม ออกตามกิ่งที่อยู่ตอนล่าง แกนของช่อดอกยาว ๓-๖ ซม. ที่โคนมีใบประดับ รูปไข่ปลายแหลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๙ มม. และยังมีใบประดับรูปไข่แคบ ๆ ปลายแหลม ยาว ๒-๓ มม. อีกด้วย ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. ช่อซี่ร่มเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. มีดอก ๑๐-๒๕ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกสีเขียวอ่อน กลีบรวมมี ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง ดอกเพศผู้มีกลีบรวมยาว ๔-๕ มม. กลีบรวมวงนอกรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๑ มม. กลีบรวมวงในรูปแถบแกมรูปใบหอกกลับ ขนาดแคบกว่า เกสรเพศผู้ ๖ อัน อับเรณูสีขาว ดอกเพศเมียมีกลีบรวมยาว ๒-๓ มม. กลีบรวมวงนอกรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายมน กว้างประมาณ ๑ มม. กลีบรวมวงในรูปแถบ ปลายมน ขนาดแคบกว่า มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๓ อัน รูปคล้ายเข็ม ยาว ๑-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. สีน้ำตาลอมเหลือง สุกสีน้ำตาลอมม่วง มี ๑-๓ เมล็ด เมล็ดรูปกลมสีแดงเข้ม
เขืองโทนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน.