ตะขบทะเลเป็นไม้พุ่ม ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้ต้น สูง ๒-๖ ม. บางครั้งพบสูงได้ถึง ๑๒ ม. ลำต้นมักบิดเวียน มีหนามตามลำต้นและกิ่ง หนามออกเดี่ยวหรือแตกแขนง ยาว ๒.๕-๗.๕ ซม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลแล้วเปลี่ยนเป็นสีเทาเมื่อแก่ กิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ ปลายเป็นตะขอ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอกกว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๙-๑๑.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนกลมหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบถึงหยักซี่ฟัน ปลายหยักมีต่อม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง ด้านบนเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เห็นไม่ชัดเจน ปลายโค้งขึ้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๖-๒ ซม. ส่วนปลายของก้านใบที่ติดกับโคนใบด้านบนมีต่อมสีดำ ๒ ต่อม
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ช่อยาวได้ถึง ๘ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มสีสนิม มีดอก ๑๕-๒๐ ดอก สีขาวอมเขียวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. มีขนสีสนิม กลีบเลี้ยงมี ๕-๖ กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนยาวสีขาว ด้านในเกลี้ยง ขอบมีขนครุย กลีบดอกมีจำนวนเท่ากับกลีบเลี้ยง รูปเกือบกลม มีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย โคนกลีบดอกด้านในมีต่อม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว ยาวได้ถึง ๑ ซม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๔ มม. ติดที่ฐาน ปลายมีรยางค์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒-๔ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. สีเขียว ผลแก่สีแดงเมื่อแห้งสีดำ เมล็ดจำนวนน้อย มีรสขม
ตะขบทะเลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้พบตามป่าทั่วไป พื้นที่เปิดโล่ง ป่าชายเลน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย.