กำลังหมูเถื่อนเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มียางขาว มีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง ค่อนข้างกลมหรือคล้ายรูปไต กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายมนและเว้าเล็กน้อย โคนรูปหัวใจ แผ่นใบด้านบนสีเขียวอมน้ำตาล มีขนยาวด้านล่างสีขาวนวล มีขนยาวหนานุ่ม เส้นกลางใบและเส้นใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๔.๖ ซม. มีขนเหมือนลำต้น
ช่อดอกคล้ายช่อกระจุก ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง มีขนหนาแน่น ก้านช่อดอกสั้นกว่าก้านใบ ยาว ๐.๘-๒.๕ ซม. ใบประดับ ๔ ใบ ร่วงง่าย รูปร่างต่าง ๆ กัน มีขนหนาแน่นใบประดับที่อยู่ด้านนอกยาวกว่า กลีบเลี้ยงรูปไข่ค่อนข้างกว้างปลายมน กว้างประมาณ ๑.๔ ซม. ยาวประมาณ ๑.๑ ซม. ใบประดับที่อยู่ด้านในรูปรี ปลายแหลม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๑ ซม. ดอกสีชมพู ไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ยาวไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนยาวและนุ่มสีขาว ด้านในเกลี้ยงกลีบเลี้ยงวงนอก ๒ กลีบ รูปรีกว้างปลายแหลม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบเลี้ยงวงใน ๓ กลีบ รูปรีแคบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดรูปกรวยยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายผายออกและแยกเป็น ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๖ มม. รูปขอบขนานปลายกลีบเว้าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๗ มม. โคนแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขนยาว ส่วนอื่น ๆ เกลี้ยง รังไข่ยาวประมาณ ๒ มม. มีจานฐานดอกล้อมรอบ
ผลมีเนื้อ รูปกลม สีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม.
กำลังหมูเถื่อนเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบที่ อ. ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา.