ไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๒๐-๓๕ ม. เปลือกมีสีน้ำตาล เทาหรือค่อนข้างดำ มีช่องอากาศเป็นจุดเล็ก ๆ สีขาว กลมหรือรีมีกลิ่นคล้ายการบูร เมื่อแก่จะลอกเป็นแผ่นบาง ๆ เป็นชั้น ๆ คล้ายกระดาษ ตามยอดอ่อน ก้านใบ และช่อดอกมีขนสีน้ำตาลหรือเหลือง ซึ่งจะค่อย ๆ ร่วงไปจนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง หูใบรูปสามเหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมแคบ ๆ ปลายเรียวแหลม ยาว ๓-๕ มม. ร่วงง่าย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๖.๕-๑๓.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนบ้านหรือเกือบเป็นเส้นตรง ขอบจักฟันเลื่อย ๒-๓ ชั้น ไม่สม่ำเสมอกัน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น เห็นชัดทั้งด้านบนและด้านล่าง แผ่นใบบางและเหนียวคล้ายกระดาษหรือหนาด้านล่างใบมีต่อมเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมากกระจายทั่วไป มีขนประปราย ตามเส้นกลางใบมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านใบยาว ๐.๒-๒.๕ ซม. เป็นร่องลึกทางด้านบน
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ๒-๕ ช่อ ดอกเรียงถี่ ๆ บนแกนกลางเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ดอก ช่อดอกเพศผู้ยาว ๕-๘ ซม. ห้อยเป็นพวงคล้ายหางกระรอกเล็ก ๆ กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ ๒ อัน อับเรณูมี ๒ ช่อง ปลายแยกจากกัน ไม่มีรังไข่ ช่อดอกเพศเมียเป็นช่อตั้ง มีใบประดับย่อย ๒ อัน อยู่ข้างละอัน ไม่มีกลีบเลี้ยง รังไข่ไม่มีก้าน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ช่อผลทรงกระบอก ใบประดับมีใบประดับย่อย ๒ อัน เชื่อมติดกัน อยู่ ๒ ข้าง ร่วงง่าย
ผลเล็ก แบน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒-๔ มม. มีปีกบาง ๆ อยู่ ๒ ข้าง
กำลังเสือโคร่งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าก่อ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน
เปลือกใช้ดองเหล้าเป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนออกเหลืองอมขาว มีลายสวยงาม ใช้ทำกระดานพื้น ตามเครื่องมือ และเครื่องเรือนต่าง ๆ.