กำลังวัวเถลิง

Anaxagorea luzonensis A.Gray

ชื่ออื่น ๆ
ชะแมบ (ตะวันออกเฉียงใต้); ช้าวัวเถลิง (ประจวบคีรีขันธ์); ปูนทา, ปูน (ใต้)
ไม้พุ่ม เปลือกสีเทาอมดำ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตรงข้ามกับใบใกล้ยอดหรือตามลำต้น ดอกสีขาวหรือเขียวอ่อน ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแตกแนวเดียว รูปคล้ายกระบอง ผลสุกสีเหลือง

กำลังวัวเถลิงเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑ ม. ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาอมดำ เมื่อแก่มีช่องอากาศทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๙-๑๖ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เป็นมันทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลายโค้ง เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านอวบ ยาว ๐.๖-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๒-๓ ดอก ออกตรงข้ามกับใบใกล้ยอดหรือตามลำต้น บานทีละดอก ดอกสีขาวหรือเขียวอ่อน ก้านดอกยาว ๔-๕ มม. มีใบประดับขนาดเล็ก ๒ ใบ ติดที่โคนก้านดอกและกลางก้านดอก กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกมีขน กลีบดอก ๖ กลีบ เรียง ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ รูปไข่ ขนาดไม่เท่ากันกลีบชั้นนอกกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบชั้นในกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รูปขอบขนาน อับเรณู ๔ พู แตกตามยาวเกสรเพศเมีย ๒-๔ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ สีเหลือง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก

 ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแตกแนวเดียว รูปคล้ายกระบอง ตอนปลายเป็นกระเปาะกลมและมีติ่งแหลม กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. โคนผลคอดเรียวเป็นก้านยาวประมาณ ๑ ซม. ผลสุกสีเหลือง แต่ละผลมี ๑-๒ เมล็ด สีแดง แก่จัดสีดำรูปรี กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม.

 กำลังวัวเถลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ผลแก่หลังจากดอกบาน ๔-๕ เดือน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 เปลือกและเนื้อไม้เป็นสมุนไพรใช้เป็นยาดองบำรุงกำลัง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำลังวัวเถลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anaxagorea luzonensis A.Gray
ชื่อสกุล
Anaxagorea
คำระบุชนิด
luzonensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gray, Asa
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1810-1888)
ชื่ออื่น ๆ
ชะแมบ (ตะวันออกเฉียงใต้); ช้าวัวเถลิง (ประจวบคีรีขันธ์); ปูนทา, ปูน (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น และ ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์