กำลังช้างสาร ๓

Maesa montana A.DC.

ชื่ออื่น ๆ
ไคร้งอย (ลำปาง), ช้ามักข้าวดอย (เชียงใหม่), หัสคุณเครือ (เลย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงสลับหรือเวียนรอบ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปใบหอก ช่อดอกออกตามง่ามใบและบริเวณเหนือรอยแผลใบ ดอกสีขาว คล้ายรูประฆัง ผลหรือค่อนข้างกลม

กำลังช้างสารเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๔ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับหรือเวียนรอบ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๓-๙ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักซี่ฟัน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกออกตามง่ามใบและบริเวณเหนือรอยแผลใบ ยาว ๑-๕ ซม. ดอกสีขาว ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. โคนก้านและปลายก้านดอกมีใบประดับรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม เล็กมาก กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายหยัก ๕ หยัก รูปไข่ กลีบดอกสีขาว


โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายหยัก ๕ หยัก ค่อนข้างกลม เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูสั้นติดแนบที่โคนกลีบดอก อับเรณูเล็กมาก รังไข่กึ่งใต้วงกลีบส่วนล่างอยู่ในถ้วยกลีบเลี้ยงและส่วนบนสูงกว่าวงกลีบเลี้ยงเล็กน้อย

 ผลหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ เมล็ดเล็กมากและมีจำนวนมาก

 กำลังช้างสารชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำลังช้างสาร ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Maesa montana A.DC.
ชื่อสกุล
Maesa
คำระบุชนิด
montana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1806-1893)
ชื่ออื่น ๆ
ไคร้งอย (ลำปาง), ช้ามักข้าวดอย (เชียงใหม่), หัสคุณเครือ (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์