กำลังควายถึกชนิดนี้เป็นไม้เถา เถากลมหรือเป็นเหลี่ยมมน เกลี้ยงหรือมีหนามโค้งประปราย หนา ๐.๓-๑.๒ ซม. ช่วงระหว่างข้อยาว ๘-๒๕ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่แกมรี กว้าง ๒.๕-๑๓ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายแหลม โคนมนหรือค่อนข้างแหลม มีบ้างที่โคนใบเว้าตื้น ๆ แผ่นใบหนา มีนวลเล็กน้อย เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น นูนเห็นเด่นชัดทางด้านล่างเส้นโคนใบ ๓ เส้นที่อยู่ตรงกลาง โคนเชื่อมกันห่างจากโคนใบ ๐.๕-๑.๓ ซม. ก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑.๕-๖ ซม. ก้านใบตอนโคนแผ่เป็นกาบกว้าง ๐.๗-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. โคนกาบรูปหัวใจเว้าลึกโอบรอบลำต้น ปลายแหลม มีมือพัน ๑ คู่ ยาว ๗-๒๐ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อแยกแขนงตามโคนหรือตอนกลางกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ๑-๓ ช่อ ยาว ๑-๓ ซม. แต่ในช่อดอกเพศผู้อาจยาวได้ถึง ๑๕ ซม. มีช่อซี่ร่มได้ถึง ๑๕ ช่อ และข้อที่ ๔-๖ ของช่อมีช่อซี่ร่มข้อละ ๒-๔ ช่อ ที่โคนของแกนช่อดอกมีใบประดับย่อย รูปไข่ปลายแหลม ยาว ๐.๘-๑ ซม. ก้านช่อดอกแข็ง ยาว ๒-๕ ซม. ช่อซี่ร่มเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. มีดอก ๒๐-๗๐ ดอก ก้านช่อยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. วงกลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง ดอกเพศผู้มีกลีบรวมยาวประมาณ ๖ มม. เมื่อดอกบานกลีบโค้งลงกลีบรวมวงนอกรูปขอบขนาน ปลายมน กว้างประมาณ ๑ มม. กลีบรวมวงในแคบกว่า เกสรเพศผู้ ๖ อัน ดอกเพศเมียมีกลีบรวมรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๔-๕ มม. เมื่อดอกบานกลีบกางตรง กลีบรวมวงนอกกว้างประมาณ ๑ มม. กลีบรวมวงในแคบกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มี ๓ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน รูปคล้ายเข็ม ๓ อัน ยาว ๑-๒ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. เมื่อสุกสีแดง มี ๑-๒ เมล็ด สีแดงเข้มรูปไข่กลับเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๕ มม.
กำลังควายถึกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามป่าดิบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่จีน เนปาล ไต้หวัน อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.