กำลังควายถึก ๑

Dracaena conferta Ridl.

ชื่ออื่น ๆ
กำลังขุนมาร (นครศรีธรรมราช), กำลังหนุมาน (ใต้), สะลีกี่บูโต๊ะ (มลายู-นราธิวาส)
ไม้พุ่ม ใบเรียงเวียน รูปใบหอกแคบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ตั้งตรง ออกตามปลายยอด ดอกสีชมพู ไม่มีก้านหรือก้านดอกสั้น ผลกลม

กำลังควายถึกชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๒.๕-๓ ม. ลำต้นสีเทา

 ใบเดี่ยว ค่อนข้างแข็ง เรียงเวียน รูปใบหอกแคบ กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเส้นแขนงใบมีจำนวนมาก ขนานตามยาวใบ

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ตั้งตรง ออกตามปลายยอด ยาวประมาณ ๓๐ ซม. มีดอกหนาแน่นเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓ ดอก สีชมพู ยาว ๑.๕-๒ ซม. ไม่มีก้านดอกหรือก้านดอกสั้นกลีบรวม ๖ กลีบ โคนติดกัน พองออก ปลายแยกลึกเกือบครึ่งดอกเป็น ๖ แฉก สีอ่อนกว่าตอนโคน เกสรเพศผู้ ๖ อัน ติดอยู่ที่โคนหลอดดอก อับเรณูติดกับก้านชูอับเรณูตรงกลางทางด้านหลัง แกว่งได้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม

 ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. เมล็ดกลม

 กำลังควายถึกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามเขาสูงในป่า ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำลังควายถึก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dracaena conferta Ridl.
ชื่อสกุล
Dracaena
คำระบุชนิด
conferta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ชื่ออื่น ๆ
กำลังขุนมาร (นครศรีธรรมราช), กำลังหนุมาน (ใต้), สะลีกี่บูโต๊ะ (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต