กำยานชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. มีลักษณะแตกต่างจากกำยานทั้ง ๓ ชนิดที่กล่าวมาแล้ว ด้านล่างของใบไม่ขาวขนเป็นกระจุกห่าง ๆ ผลค่อนข้างกลมถึงรูปไข่กว้าง ไม่แตกเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม.
กำยานชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ตามป่าดิบทางภาคใต้ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๒๐๐ ม.
พรรณไม้ในสกุล Styrax บางชนิด เมื่อเปลือกถูกกรีดมีบาดแผล หรือมีราลง จะขับยางใสกลิ่นหอมออกมา ในยางนั้นประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เมื่อแห้งจะแข็งติดอยู่กับลำต้น แกะออกมาได้เรียกว่า กำยาน (Benzoin) กำยานที่รู้จักกันดีมี ๒ ชนิด คือ กำยานที่ได้จาก S. benzoin Dryand. และ S. paralleloneurus Parkinson มีชื่อทางการค้าว่า กำยานสุมาตรา (Sumatra benzoin) และกำยานที่ ได้จาก S. tonkinensis (Pierre) Craib ex Hartwich มีชื่อทางการค้าว่า Siam benzoin ในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อ กำยานหลวงพระบาง หรือ กำยานญวน เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดจากประเทศลาวและเวียดนาม
สารเคมีที่พบในกำยานส่วนใหญ่เป็นเอสเทอร์ของ cinnamic acid และ benzoic acid รวมทั้ง cinnamic acid และ benzoic acid เอง ปริมาณและชนิดของเอสเทอร์และกรดจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มา กำยานสุมาตรามีสาร coniferyl cinnamate ร้อยละ ๗๐-๘๐, coniferyl benzoate, cinnamic acid ประมาณร้อยละ ๑๐, benzoic acid ประมาณร้อยละ ๕ นอกจากนี้ ยังพบ terpenoid acid คือ siaresinolic acid และ sumaresinolic acid สารที่พบในปริมาณน้อยมากคือ benzaldehyde, phenylpropyl cinnamate, cinnamyl cinnamate, vanillin และ styrene ส่วนในกำยานหลวงพระบางพบสาร coniferyl benzoate รวมกับ cinnamyl benzoate ร้อยละ ๖๐-๘๐, benzoic acid ประมาณร้อยละ ๑๒, siaresinolic acid, siaresinol, triterpene และพบ cinnamic acid กับ vanillin บ้างเล็กน้อย
กำยานที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยาส่วนใหญ่จะใช้กำยานสุมาตรา โดยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ กระตุ้น และฝาดสมาน กำยานหลวงพระบางส่วนใหญ่ใช้เป็นสารให้คงกลิ่นในน้ำหอม สบู่ ครีม และสารซักฟอก เป็นต้น.