เขือง

Wallichia siamensis Becc.

ชื่ออื่น ๆ
ขี้นาง, ขี้หนาง (เหนือ); เต่าร้างหนู (กรุงเทพฯ)
ปาล์มแตกเป็นกอแน่น และมักเกิดรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ใบประกอบแบบขนนก แผ่นใบย่อยมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบหยักไม่เป็นระเบียบ ช่อดอกออกที่ปลายลำและซอกกาบใบลดหลั่นลงมาในแต่ละปี เมื่อออกดอกเป็นผล สุดท้ายต้นจะเหี่ยวแห้งตาย

เขืองเป็นปาล์ม แตกเป็นกอใหญ่ ลำต้น ใบ และช่อดอกมีขุยสีน้ำตาลเทาถึงน้ำตาลแดง ร่วงง่าย ลำต้นสูง ๒-๓ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. มีน้อยมากที่ขนาดถึง ๘ ซม. มักมีกาบใบและรกกาบใบคล้ายร่างแหหุ้ม

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน กาบใบยาว ๓๐-๖๐ ซม. ขอบแยกตามยาว ขอบกาบและปลายกาบมีเส้นใยเหนียวคล้ายร่างแหสานกันแน่นหุ้มลำต้น และชี้สูงขึ้นยาวกว่าก้านของใบถัดไป แกนกลางยาว ๑-๑.๕ เมตร ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ เมตร แผ่นใบย่อยมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ตอนปลายหยักไม่เป็นระเบียบ กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๒๕-๖๐ ซม. ติดอยู่บนแกนใบเป็นกลุ่ม ๆ ทอดระยะห่างกันกลุ่มละ ๒-๕ ใบ ใบหนึ่ง ๆ มีใบย่อย ๑๕-๒๐ ใบ ด้านล่างของแผ่นใบสีขาวนวล

 ดอกแยกเพศต่างช่อแต่ร่วมต้น ช่อดอกเพศเมียออกที่ปลายลำต้นก่อน ช่อดอกเพศผู้ออกในบริเวณซอกกาบใบถัดต่ำลงมาเรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา และเมื่อผลแก่สุกยอดลำก็จะค่อย ๆ เหี่ยวแห้งตายไป จนในที่สุดก็แห้งตายทั้งต้น ช่อดอกเป็นช่อแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียยาว ๒๕-๔๐ ซม. ช่อดอกเพศผู้ยาว ๓๕-๖๐ ซม. ดอกเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมียที่สมบูรณ์ ส่วนดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปรีแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๒.๒ ซม. เมื่อสุกสีแดงถึงแดงแกมม่วง

 เขืองเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๑,๒๐๐ ม.

 ลักษณะโดยทั่วไปของพืชสกุลนี้ใกล้เคียงกับพืชในสกุลฉก (Arenga) มาก ต่างกันที่ปาล์มในสกุลเขืองมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปาล์มในสกุลฉกกลีบเลี้ยงแยกเป็นอิสระและเรียงเกยซ้อนกัน เกสรเพศผู้ของปาล์มในสกุลเขืองมี ๖ อัน ส่วนเกสรเพศผู้ของปาล์มในสกุลฉกมีมากกว่า ๖ อัน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Wallichia siamensis Becc.
ชื่อสกุล
Wallichia
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Beccari, Odoardo
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1920)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้นาง, ขี้หนาง (เหนือ); เต่าร้างหนู (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม