ตะเข็บ

Pothos scandens L.

ชื่ออื่น ๆ
คอกิ่ว (สุราษฎร์ธานี, ยะลา); คอกิ่วใบน้อย, คอกิ่วใบเล็ก (ตรัง); จะเข็บ (กลาง); ตะขาบ (ชลบุรี); นะแมะ
ไม้เลื้อย กึ่งอิงอาศัย มีรากเกาะเลื้อย ลำต้นค่อนข้างแข็ง รูปทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อยใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ก้านใบมีปีกกว้าง ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบออกตามซอกใบ มีช่อสีเขียวอ่อนอมเหลืองหรือสีขาว รูปทรงกลม รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่หรือกึ่งรูปกระบอก มีก้านสีเขียวอ่อน สีม่วงอมแดง หรือสีม่วง โค้ง กาบช่อดอกสีเขียวอ่อน สีม่วงอมแดง หรือสีม่วง ดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเหล็ด ช่อผลมี ๑-๕ ผล ผลรูปคล้ายกระบอกกลับ สีเขียว สุกสีแดงแข้ม เมล็ดรูปทรงรีหรือรูปทรงกลมแป้น มี ๑ เมล็ด พบน้อยที่มีได้ถึง ๓ เมล็ด

ตะเข็บเป็นไม้เลื้อย กึ่งอิงอาศัย ยาวได้ถึง ๖ ม. มีรากเกาะเลื้อย ช่วงแรกขึ้นบนดิน ต่อมาอิงอาศัย ลำต้นค่อนข้างแข็ง รูปทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มีจำนวนมาก แบบเดียวตลอดทั้งลำต้น รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๒-๑๐ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือเป็นติ่งหนาม โคนมนกลมหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เมื่อแห้งบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวถึงสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบออกจากโคนหรือใกล้โคนเส้นกลางใบโค้งไปสู่ปลายใบข้างละ ๒ เส้น



เส้นนอกสุดอยู่ใกล้ขอบใบหรือเส้นแขนงใบออกจากเส้นกลางใบทั้ง ๒ ข้างแบบขนนก เส้นใบย่อยเฉียงขึ้นเชื่อมกับเส้นแขนงใบเป็นแบบร่างแห ก้านใบมีปีกกว้าง รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๑๔ ซม. ปลายตัด มนกลม หรือรูปติ่งหู

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามซอกใบ มี ๑ ช่อ โคนก้านช่อดอกมีใบที่เปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดหุ้มสีเขียวเรียงสลับโอบซ้อนกัน ๔-๖ เกล็ด ยาว ๐.๓-๑ ซม. หนาคล้ายแผ่นหนัง กาบช่อดอกสีเขียวอ่อนสีม่วงอมแดง หรือสีม่วง รูปไข่กว้าง กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๔-๘ มม. มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายเรือ ปลายแหลม มนกลม หรือเป็นติ่งหนามเล็ก โคนคอดคล้ายก้านสั้นหรือค่อนข้างยาว ขอบม้วนขึ้น กาบหนาคล้ายแผ่นหนัง ติดทนจนเป็นผล ก้านช่อดอกสีเขียวหรือสีเขียวมีรอยแต้มสีม่วง กว้าง ๐.๕-๒ มม. ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ตั้งหรือกางอยู่ใต้กาบช่อดอก ช่อดอกแบบมีก้านสีเขียวอ่อนอมเหลืองหรือสีขาว รูปทรงกลม รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่ หรือกึ่งรูปกระบอง กว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๐.๔-๑ ซม. ก้านเหนือกาบช่อดอกสีเขียวอ่อน สีม่วงอมแดง หรือสีม่วง กว้าง ๐.๓-๑ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. โค้ง มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ ดอกสมบูรณ์เพศมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. กลีบรวม ๖ กลีบ เชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูแบน รูปขอบขนาน แกนอับเรณูเรียว พูอับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียรูปครึ่งทรงกลมแกมรูปคล้ายจาน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ช่อผลมี ๑-๕ ผล ผลรูปคล้ายกระบองกลับ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑-๑.๘ ซม. สีเขียว สุกสีแดงเข้ม เมล็ดรูปทรงรีหรือรูปทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ มม. มี ๑ เมล็ด พบน้อยที่มีได้ถึง ๓ เมล็ด

 ตะเข็บมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบเกาะเลื้อยตามหิน ตามลำต้น และกิ่งของต้นไม้ ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๒,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เกาะมาดากัสการ์ คอโมโรส อินเดีย (อัสสัม) ศรีลังกา หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ บังกลาเทศ เมียนมา ทิเบต จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะเข็บ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pothos scandens L.
ชื่อสกุล
Pothos
คำระบุชนิด
scandens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
คอกิ่ว (สุราษฎร์ธานี, ยะลา); คอกิ่วใบน้อย, คอกิ่วใบเล็ก (ตรัง); จะเข็บ (กลาง); ตะขาบ (ชลบุรี); นะแมะ
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี