ตะขบควายเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อนถึงสีเทา แตกล่อนเป็นแผ่น ลำต้นและกิ่งอ่อนมักมีหนามจำนวนมาก เมื่อแก่มีหนามน้อยลง กิ่งอ่อนมีขนปลายเป็นตะขอประปรายถึงหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แคบถึงรูปขอบขนานพบบ้างที่เป็นรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๔-๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงมนกลม ขอบหยักซี่ฟัน ปลายหยักมีต่อม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง เป็นมันเงา ด้านล่างสีเขียวซีด อาจพบมีขนปลายเป็นตะขอประปรายบริเวณโคนเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ปลายโค้งขึ้น ด้านบนเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านล่าง ก้านใบยาว ๖-๘ มม. หูใบร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะกึ่งช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ยาวได้ถึง ๑ ซม. มีขนปลายเป็นตะขอประปรายถึงหนาแน่น ใบประดับคล้ายใบ รูปไข่กลับ ดอกสีเขียว มีกลิ่นหอมหวาน ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ สีเขียว รูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง ๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในมีขนหนาแน่น ขอบมีขนครุย ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มี ๓๕-๕๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๓ มม. เกลี้ยง จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๔-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. ยาวเท่า ๆ กับรังไข่ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก ๔-๖ ตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาลแดงหรือสีม่วง สุกสีดำ มีเนื้อสีเหลืองแกมสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดแบนมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๔-๑๐ เมล็ด
ตะขบควายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่ถูกบุกรุก ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อน.