กระเช้าผีมด ๒

Hydnophytum formicarum Jack

ชื่ออื่น ๆ
ดาลูปูตาลิมา (มลายู-ปัตตานี), ปุ่มเป้า (ตราด), ร้อยรู (ปัตตานี), หัวร้อยรู (กลาง)
ไม้พุ่มอิงอาศัย โคนต้นป่อง ภายในพรุนเป็นที่อาศัยของมด ใบหน้ามัน ออกตรงข้าม รูปรี ดอกออกตามข้อ สีขาวผลกลม มีเนื้อ สุกสีแดง

 กระเช้าผีมดชนิดนี้เป็นไม้พุ่มอิงอาศัยอยู่บนต้นไม้ลำต้นสูง ๓๐-๕๐ ซม. โคนต้นป่อง กว้างและยาว ๑๕-๒๐ ซม. สูง ๕-๑๐ ซม. ส่วนที่ป่องสีน้ำตาล เนื้อหนาคล้ายอวบน้ำ ภายในพรุนและมีช่องทะลุติดต่อถึงกันซึ่งเป็นที่อาศัยของมดผิวด้านนอกเป็นคลื่นหยักลึกและเป็นมัน ถ้าโป่งมากผิวจะเป็นคลื่นตื้น ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๓-๔.๘ ซม. ยาว ๗-๑๑ ซม. ปลายป้าน โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาก้านใบยาว ๒-๓ มม.

 ดอกออกเดี่ยว ๆ แต่มักรวมกันเป็นกระจุกอยู่รอบข้อขนาด ๒-๓ มม. ไม่มีก้านดอก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ภายในหลอดดอกมีขนเกสรเพศผู้ ๔ อัน ไม่มีก้านชูอับเรณู รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลกลม มีเนื้อ ขนาดประมาณ ๕ มม. ผลสุกสีแดง

 กระเช้าผีมดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นบนต้นไม้ที่อยู่ตามเชิงเขาชายทะเลและในป่าเชิงทรง (tidal forest) พบมากบริเวณใกล้ทะเล ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและฟิลิปปินส์

 ลำต้นส่วนที่ป่อง เมื่อนำมาตำแล้วใช้พอกแก้ปวดศีรษะ (Burkill, 1935).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเช้าผีมด ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hydnophytum formicarum Jack
ชื่อสกุล
Hydnophytum
คำระบุชนิด
formicarum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1795-1822)
ชื่ออื่น ๆ
ดาลูปูตาลิมา (มลายู-ปัตตานี), ปุ่มเป้า (ตราด), ร้อยรู (ปัตตานี), หัวร้อยรู (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์