กำเบ้อขาว

Mussaenda kerrii Craib

ชื่ออื่น ๆ
กะเบือขาว (เชียงใหม่, เพชรบุรี); กัลปพฤกษ์เครือ (ลำปาง); ดอกแกมใบ (เพชรบูรณ์); ต่างไก่ขน, ใบต่างดอก,
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อน ใบ หูใบ และกลีบเลี้ยงมีขน ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง ๑ แฉกขยายใหญ่ เป็นรูปซ้อนสีขาว ดอกสีส้ม ผลรูปไข่ มีเนื้อนุ่ม

กำเบ้อขาวเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูงประมาณ ๓ ม. กิ่งอ่อน มีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปแหลมสอบใบหอก กว้าง ๓-๖.๕ ซม. ยาว ๑๒-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น โค้งขึ้นเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายแหลมมีขนสีน้ำตาลขนาดประมาณ ๔ มม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่น โคนกลีบติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกหนึ่งขยายใหญ่เป็นรูปซ้อนสีขาว กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. โคนเป็นก้านยาว ๑-๒ ซม. กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดเล็ก สีส้ม โคนกลีบติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดกับผนังหลอดด้านในรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลสีเขียวอ่อน รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. ผิวมีช่องอากาศมาก ปลายจุกผลยังคงมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่เนื้อนุ่ม มีเมล็ดมาก

 กำเบ้อขาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามชายป่าและที่ลุ่มริมน้ำ บนที่ราบจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำเบ้อขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mussaenda kerrii Craib
ชื่อสกุล
Mussaenda
คำระบุชนิด
kerrii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
กะเบือขาว (เชียงใหม่, เพชรบุรี); กัลปพฤกษ์เครือ (ลำปาง); ดอกแกมใบ (เพชรบูรณ์); ต่างไก่ขน, ใบต่างดอก,
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์