ตะข่าป่า

Zingiber thorelii Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
ขิงยูนนาน, ขิงสิบสองปันนา, พญามือเหล็ก, พองข่าดอก, หัวกำบิด (เหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี มักพบเป็นลำต้นเดี่ยว มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างยาว ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้าใกล้โคนลำต้นเทียมหรือมีก้านช่อยืดยาวออกไป ตั้งขึ้น รูปกรวยคว่ำ รูปลูกข่าง รูปคล้ายกระบอง หรือรูปขอบขนาน ดอกสีเหลืองหรือสีแดงแกมสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง สีเขียวอมเหลือง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และเปลี่ยนเป็นสีแดง ติดทน เมล็ดสีน้ำตาลเข้มเกือบสีดำ รูปกระสวย มีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

ตะข่าป่าเป็นไม้ล้มลุกหลายปี มักพบเป็นลำต้นเดี่ยว มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าค่อนข้างยาว ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน สูง ๑-๒.๕ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๘-๑๕ ใบ มักเรียงชิดกันที่ปลายลำต้นเทียม รูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๑๐-๑๕ ซม. ยาว ๒๐-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ป่อง สีเขียวอ่อนหรือสีอมแดง ลิ้นใบสีเขียวหรือสีแดง ค่อนข้างสั้น ปลายตัด ด้านบนสีเขียว เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวหรืออาจเจือสีม่วงอ่อน กาบใบสีเขียวหรือสีเขียวอมแดง ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๒-๔ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๒.๕ ม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้าใกล้โคนลำต้นเทียมหรือมีก้านช่อยืดยาวออกไป ตั้งขึ้น รูปกรวยคว่ำ รูปลูกข่าง รูปคล้ายกระบอง หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕-๓๕ ซม. ใบประดับที่โคนก้านช่อหนาคล้ายแผ่นหนัง สีเขียว สีส้มอมแดง หรือสีแดง รูปเรือหรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๕-๕.๕ ซม. ปลายมนหรือแหลม ค่อนข้างเกลี้ยง ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอ่อนอมแดง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม ดอกสีเหลืองหรือสีแดงแกมสีเหลือง แต่ละซอกใบประดับมี ๑ ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๓-๖ มม. ปลายแยกเป็นแฉกด้านเดียว ยาว ๔-๖ มม. ปลายสุดหยักซี่ฟัน ๒-๓ หยัก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแคบ กว้าง ๔-๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร อับเรณูสีเหลืองนวล กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ มม. รยางค์เกสรเพศผู้ยาว ๐.๗-๑ ซม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี ๓ เกสรที่อยู่ตรงกลางเชื่อมติดกันและเปลี่ยนเป็นกลีบปาก สีเหลือง สีแดง หรือมีลายสีชมพูอมแดง รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายมนหรือแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก อีก ๒ เกสรอยู่ข้างกลีบปากข้างละ ๑ เกสร แยกอิสระเป็นกลีบคู่ข้าง รูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายมนหรือเว้าตื้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒.๕-๔ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑๒-๑๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ที่สมบูรณ์มี ๑ ก้าน รูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย ขอบมีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์อีก ๒ ก้านลดรูปเป็นติ่ง ยาว ๖-๘ มม. ติดอยู่เหนือรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวยถึงทรงรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. สีเขียวอมเหลือง ผลแก่สีแดง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และเปลี่ยนเป็นสีแดงติดทน เมล็ดสีน้ำตาลเข้มเกือบสีดำ รูปกระสวยมีจำนวนมาก มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

 ตะข่าป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบหรือป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะข่าป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zingiber thorelii Gagnep.
ชื่อสกุล
Zingiber
คำระบุชนิด
thorelii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, FranÇois
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, FranÇois (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
ขิงยูนนาน, ขิงสิบสองปันนา, พญามือเหล็ก, พองข่าดอก, หัวกำบิด (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ