ขางหางเลื้อยเป็นไม้ล้มลุกหลายปี กึ่งเลื้อย สูงหรือยาวได้ถึง ๑.๕ ม. อาศัยไม้ข้างเคียงช่วยพยุง เปลือกเรียบเนื้อด้านนอกแข็ง แต่ข้างในเป็นเยื่อนุ่มหรือกลวง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปหัวลูกศร หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลมและมักโค้งเล็กน้อย โคนตัดรูปเงี่ยงลูกศรหรือมน ขอบหยักซี่ฟันแกมจักฟันเลื่อยถี่แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวด้าน ด้านล่างสีเขียวอมเทา มีขนสั้นตามแนวเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น เห็นชัดทางด้านล่างก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งช่อยาว ๘-๑๔ ซม. ก้านช่ออาจมีใบประดับรูปใบหอกแต่ละช่อประกอบด้วยช่อย่อย ๒-๑๐ ช่อ วงใบประดับรูปกรวยหรือรูประฆัง กว้างและยาวประมาณ ๑ ซม. มีใบประดับประมาณ ๑๕ ใบ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ ๘ มม. ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มีประมาณ ๖ ดอก กลีบเลี้ยงเป็นเส้น กลีบดอกรูปลิ้น กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. สีเหลือง ดอกวงในสมบูรณ์เพศ มีประมาณ ๒๐ ดอก ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย สีขาวกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมเล็กยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเป็นเส้น อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน เชื่อมติดกันทางด้านข้าง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้ายยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายตัด ตามขอบมีต่อมทั่วไป
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงติดทนรอบปลายผลเป็นเส้นละเอียดสีขาวเมล็ดเล็ก รูปคล้ายผล
ขางหางเลื้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าทุ่งหญ้า ชายป่าดิบผสมป่าไผ่ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๕๔๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ปากีสถาน จีน ญี่ปุ่น ภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะเซเลบีส.