กระเช้าผีมดชนิดนี้เป็นไม้เถา ลำต้นเมื่อยังอ่อนอยู่มีขนแต่ขนจะค่อย ๆ ร่วงไปจนเกือบเกลี้ยงหรือเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีรูปร่างหลายแบบ ตั้งแต่รูปไข่จนถึงรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๕.๘-๗.๖ ซม. ยาว ๙.๕-๑๖.๕ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือรูปติ่งหู ขอบเรียบใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน นอกจากเส้นใบและเส้นใบย่อยอาจมีขน แผ่นใบมีต่อมลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ กระจัดกระจาย เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบย่อยเรียงตามขวางใบคล้ายขั้นบันไดและสานกันเป็นร่างแห เส้นร่างแหเห็นชัดทางด้านล่างมากกว่าด้านบนก้านใบยาว ๓-๖ ซม. ด้านบนเป็นร่องและมีขนละเอียด ด้านล่างเกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบยาว ๖-๑๓.๕ ซม. มีขน ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. กลีบดอกเชื่อมติดกัน ที่โคนป่องเป็นกระเปาะกลม ๆ กว้างและยาว ๕-๗ มม. เหนือขึ้นไปคอดเป็นหลอดเล็ก ๆ กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายกลีบเบี้ยว ข้างหนึ่งจะยื่นออกไป เป็นรูปใบหอก กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๑.๖-๒.๕ ซม. ใบประดับรูปไข่ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. โคนและปลายของใบประดับแหลม ขอบมีขน ตามผิวมีขนสั้น ๆ ทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๖ อัน อยู่แนบติดกับก้านยอดเกสรเพศเมียอับเรณูรูปรี ยาวประมาณ ๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น ๖ แฉก รูปกรวยยาว ปลายมน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอกเล็ก ๆ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก
ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลม รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๒.๗-๔.๓ ซม. ยาว ๓.๓-๕.๕ ซม. ก้านผลยาว ๓.๓-๕.๘ ซม. ผลแก่จะแตกตามยาวจากขั้วไปยังโคน และก้านผลก็แตกแยกออกเป็น ๖ เส้น โดยที่โคนก้านและปลายผลยังติดกันอยู่ รูปร่างคล้ายกระเช้า เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่กลับ ค่อนข้างป้อม หรืออาจเว้าเล็กน้อยเป็นรูปหัวใจกลับมีปีก กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๕-๘ มม. ด้านหนึ่งผิวเรียบส่วนอีกด้านหนึ่งมีตุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่ห่าง ๆ
กระเช้าผีมดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ที่โล่งแจ้ง และบนดินปนทราย ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕-๑,๐๓๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา พม่า กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ตลอดจนถึงหมู่เกาะโซโลมอน และทวีปออสเตรเลีย
ต้นเป็นยาช่วยให้ธาตุปรกติ (Chopra, Nayar and Chopra: 1956) ใบใช้เป็นยาพอกภายนอก เช่น พอกศีรษะลดไข้ พอกแก้โรคผิวหนัง เผาใบให้ร้อนวางนาบไว้บนท้องหรือตามแขนขาที่บวม แก้อาการปวดบวม (Burkill, 1935) ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด.