กำจายเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและก้านใบมีหนามแหลมแข็งโค้งลงคล้ายหนามกุหลาบ
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๑๕-๒๐ ซม. หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. ร่วงง่าย ใบย่อย ๘-๑๒ คู่ เรียงตรงข้ามกัน รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ปลายมน โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยสั้นมาก ใบอ่อนมีขนนุ่มแต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ แต่ละกลีบขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอกใหญ่ กว่ากลีบอื่น โคนติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน แต่ละกลีบค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณู มีขนเป็นปุย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีออวุล ๓-๔ เม็ด
ฝักไม่แตก รูปรี ตรงกลางป่องเล็กน้อย กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓.๕-๕ ซม. ก้านสั้น มี ๒-๓ เมล็ด สีน้ำตาลคล้ำค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๙ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม.
กำจายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นในป่าเบญจพรรณและตามชายป่าทั่วไป ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย
ฝักให้น้ำฝาดใช้ย้อมผ้า หนัง แห อวน และชำระล้างบาดแผล ห้ามโลหิต สมานแผน ปรุงเป็นยากินแก้ท้องร่วงรากใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ (สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณสํานักวัดพระเชตุพนฯ, ๒๕๐๗; Burkill, 1935)