กำจัดหน่วยเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมกระจายห่าง ๆ
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ก้านใบและแกนกลางมีหนามแหลม มีใบย่อย ๒-๔ คู่ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายและโคนแหลมหรือมน ขอบหยักห่าง ๆ บริเวณรอยหยักมักมีต่อมกลมอยู่ใกล้ ๆ ขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น มีหนามเล็ก ๆ ตามเส้นกลางใบด้านล่าง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือง่ามใบ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกอาจมีขนละเอียด ดอกเล็ก มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย ดอกเพศผู้ยาว ๔-๕ มม. ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เล็กมาก รูปสามเหลี่ยม โคนกลีบติดกันเล็กน้อย กลีบดอก ๔ กลีบ สีเหลืองอมเขียว รูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๔-๖ มม. ชูอับเรณูโผล่พ้นกลีบดอก อับเรณูเล็กมาก มี ๒ ช่อง รังไข่เล็กมากและไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ ต่างกันที่ขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้และมีรังไข่ใหญ่เห็นได้ชัด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ดก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก มี ๔ พูที่ค่อนข้างอิสระ ติดกันเฉพาะที่โคน พูค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ มม. เมื่อแก่แตกตามยาวกลางหู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๕ มม. ผิวเกลี้ยงและเป็นมัน
กำจัดหน่วยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และญี่ปุ่น
ในภูมิภาคอินโดจีนใช้ผลปรุงยาจำพวกฝาดสมาน ขับลม ขับพยาธิ เป็นต้น (Perry and Metzger, 1980).