กำจัด

Zanthoxylum rhetsa (Roxb.) DC.

ชื่ออื่น ๆ
กำจัดต้น (กรุงเทพฯ), มะข่วง (เหนือ), หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน)
ไม้ต้น มีหนามแหลมตามลำต้นและกิ่ง ใบประกอบรูปแบบขนนกปลายคี่หรือคู่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรีช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกแยกเพศ กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลม ผิวขรุขระ มีกลิ่น

กำจัดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. มีหนามแหลมตามลำต้นและกิ่ง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่หรือคู่ เรียงสลับ ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายแหลมมาก โคนแหลมและเบี้ยวขอบเรียบหรือหยักห่าง ๆ บางครั้งมีต่อมกลมเล็ก ๆ ที่บริเวณหลักเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๕ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๓-๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ขนาดใหญ่ ออกที่ยอดหรือตามง่ามใบใกล้ยอด ดอกแยกเพศ สีขาวหรือขาวอมเขียว ยาว ๒-๓ มม. ก้านดอกสั้นมาก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยงเล็กมาก ๔ กลีบ รูปกลมหรือรูปสามเหลี่ยม กลีบดอก ๔ กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๑-๒ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูยาวไล่เลี่ยกับกลีบดอก อับเรณูเล็กมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เล็กมากและไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้ มีรังไข่ใหญ่ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. ผิวขรุขระ มีกลิ่น เมล็ดเล็ก กลม ดำเป็นมัน


 กำจัดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบ บนพื้นที่ระดับต่ำไปจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ในภูมิภาคอินโดจีนใช้เปลือกทำยาแก้ไข้และยาบำรุง (Perry and Metzger, 1980) ผลใช้เป็นเครื่องเทศ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำจัด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Zanthoxylum rhetsa (Roxb.) DC.
ชื่อสกุล
Zanthoxylum
คำระบุชนิด
rhetsa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
กำจัดต้น (กรุงเทพฯ), มะข่วง (เหนือ), หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์