กำจ้อย

Pavetta tomentosa Roxb. ex Sm. var. canescens Craib

ชื่ออื่น ๆ
คันคาก (นครราชสีมา), สุหัสเขา (ใต้)
ไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายยอด ดอกสีขาวรูปดอกเข็ม กลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปกลม ผลสุกสีดำ มีขน และมีกลีบเลี้ยงติดอยู่จนกระทั่งผลแก่

กำจ้อยเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๔ ม. บริเวณยอดและปลายกิ่งมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้างประมาณ ๙.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๑ ซม. ปลายและโคนแหลม แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง มีขน เส้นกลางใบเป็นสันนูน เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายเป็นสันนูนยื่นออกไปเป็นติ่งแหลม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายยอด ดอกสีขาว ยาว ๑-๒ ซม. กลิ่นหอมเล็กน้อย ก้านดอกยาวและมีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๆ ๔ แฉก มีขนทั่วไป กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดยาวปลายขยายกว้างคล้ายดอกเข็มแยกออกเป็น ๔ แฉก เกสรเพศผู้ติดอยู่ที่ปากหลอด สลับกับแฉกกลีบดอกและมีจำนวนเท่ากับแฉกกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้น ยาวพ้นกลีบดอกออกมาดูคล้ายรยางค์ของดอก

 ผลแบบมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม ผลสุกสีดำมีขน กลีบเลี้ยงติดอยู่จนกระทั่งผลแก่ มี ๑-๒ เมล็ด

 กำจ้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบในป่าโปร่งและป่าดิบทั่วไป ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลียเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กำจ้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pavetta tomentosa Roxb. ex Sm. var. canescens Craib
ชื่อสกุล
Pavetta
คำระบุชนิด
tomentosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Smith, James Edward
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. canescens
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Craib
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Smith, James Edward (1759-1828)
ชื่ออื่น ๆ
คันคาก (นครราชสีมา), สุหัสเขา (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจเร สดากร