กาหลงเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. กิ่งอ่อนมีขนทั่วไป กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๙-๑๓ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายเว้าลงมาสู่เส้นกลางใบลึกเกือบครึ่งแผ่นใบ ทำให้ปลายทั้ง ๒ ข้างแหลม โคนรูปหัวใจขอบเรียบ เส้นโคนใบ ๙-๑๐ เส้น ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนเล็กละเอียด ก้านใบยาว ๓-๔ ซม. มีขน หูใบเรียวแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. ร่วงง่าย มีรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบที่อยู่ตอนปลายกิ่ง มี ๓-๑๐ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็ก ๒-๓ ใบ รูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ดอกตูมรูปกระสวย ยาว ๒.๕-๔ ซม. ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ติดกันคล้ายกาบ กว้าง ๑-๑.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายเรียวแหลมและแยกเป็นพู่สั้น ๆ ๕ เส้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวรูปรีหรือรูปไข่กลับ มักมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายมน โคนสอบ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูแต่ละอันยาวไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ ๑.๕-๒.๕ ซม. อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว ๓-๕ มม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๖-๘ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแผ่นกลม
ผลแบบผลแห้งแตก เป็นฝักแบน คล้ายรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายและโคนฝักสอบแหลม
กาหลงพบในประเทศไทยทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
ปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกใช้เป็นยาแผนโบราณ แก้ปวดศีรษะ ลดความดันโลหิต แก้เลือดออกตามไรฟันและแก้เสมหะพิการ (เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ๒๕๑๙) ในอินโดนีเซียใช้รากแก้ไอ (Perry and Metzger, 1980).