กาสามปีก ๒

Pueraria stricta Kurz

ชื่ออื่น ๆ
มะแปบป่า (เหนือ)
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนไม่เป็นสัน มีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ใบย่อยคู่ล่างเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วง ฝักรูปขอบขนาน

กาสามปีกชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๑-๒ ม. กิ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ มม. มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีขาวหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนกมีสามใบย่อย เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว ๒.๕-๗ ซม. ด้านบนเป็นร่องและมีขนนุ่ม หูใบ ยาวประมาณ ๕ มม. ร่วงง่าย ใบย่อยรูปไข่ กว้าง ๓-๙ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายค่อนข้างเรียวแหลม โคนใบย่อยกลางสอบเป็นรูปลิ่ม โคนใบย่อยคู่ข้างเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางด้านบนมีขนสั้นละเอียดสีน้ำตาล ด้านล่างมีขนสั้นละเอียดสีขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น นูนเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบย่อยใบกลางยาว ๑-๒ ซม. ก้านใบย่อยคู่ข้างยาว ๒-๔ มม. หูใบย่อยรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ปลายเรียวแหลม ยาว ๒-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๙-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๔-๒๕ ซม. ใบประดับรูปคล้ายใบหอก ปลายแหลม ยาวประมาณ ๒ มม. ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วง ก้านดอกเล็กเรียว ยาว ๑-๓ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอกโคนกลีบเป็นจะงอย ยาว ๒-๓ มม. กลีบกลางรูปเกือบกลม ปลายเป็นหยักโคนเป็นติ่ง กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๔-๕ มม. กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน โคนเป็นติ่ง กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบคู่ล่างปลายบ้าน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รวมเป็นมัดเดียว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านชูเกสรเพศเมียค่อนข้างเกลี้ยง

 ฝักรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๗ มม. ยาวประมาณ ๕ ซม. มี ๘-๑๐ เมล็ด

 กาสามปีกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ในต่างประเทศพบที่พม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาสามปีก ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pueraria stricta Kurz
ชื่อสกุล
Pueraria
คำระบุชนิด
stricta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
มะแปบป่า (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา