เงาะป่าเทา

Nephelium melliferum Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
กำลัง (ใต้); คอแลน (ตะวันออกเฉียงใต้); เงาะป่า (ตะวันออก)
ไม้ต้น เปลือกเรียบ สีแดง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย ๒-๑๐ ใบ รูปขอบขนานแกมรูปรี ไม่มีตุ่มใบ ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเขียวอ่อนถึงสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปทรงรี สุกสีแดง ผิวเป็นหนามทู่ มี ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว กินได้

เงาะป่าเทาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๖ ม. เปลือกเรียบ สีแดง กิ่งอ่อนค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒-๗.๕ ซม. ใบย่อย ๒-๑๐ ใบ เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔.๕-๑๖ ซม. ปลายมนถึงเรียวแหลม พบบ้างที่เว้าตื้น โคนแหลม มนกว้าง


หรือสอบเรียว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบแข็งกระด้าง ด้านบนมีขนประปรายตามเส้นกลางใบถึงเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นเป็นมันคล้ายไหมประปราย ไม่มีตุ่มใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ปลายเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแหละเอียด เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบย่อยยาว ๓-๙ มม. ไม่มีหูใบ

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๑๕ ซม. โดยมากมักไม่ค่อยแยกแขนงมีขนยาวประปรายถึงขนอุย ดอกเล็ก สมมาตรตามรัศมีสีเขียวอ่อนถึงสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. ด้านในมีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปรี โคนสอบเรียว ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน จานฐานดอกรูปวงแหวน เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๗-๘ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒.๕ มม. มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู

 ผลคล้ายผลแห้งแตก รูปทรงรี กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. แตกที่ปลาย ผลเจริญเพียง ๑ พู สุกสีแดง ผิวเป็นหนามทู่ ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. และมีขนสีน้ำตาลทองประปราย มี ๑ เมล็ด มีเยื่อหุ้มเป็นเนื้อนุ่มสีขาว กินได้

 เงาะป่าเทามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เวียดนามและคาบสมุทรมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เงาะป่าเทา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nephelium melliferum Gagnep.
ชื่อสกุล
Nephelium
คำระบุชนิด
melliferum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
กำลัง (ใต้); คอแลน (ตะวันออกเฉียงใต้); เงาะป่า (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา