ตะโกสวน

Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. var. malabarica

ชื่ออื่น ๆ
ตะโกไทย (กลาง); ปลาบ (เพชรบุรี); มสุลัวะ (กะเหรี่ยง-ลำปาง); มะเขือเถื่อน (สกลนคร)
ไม้ต้น ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เปลือกสีน้ำตาลถึงสีคล้ำ แตกเป็นร่องเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างแป้น สุกสีเหลืองอมส้ม กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน ปลายพับกลับ เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว

ตะโกสวนเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เปลือกสีน้ำตาลถึงสีคล้ำ แตกเป็นร่องเป็นสะเก็ด กระพี้สีขาว แก่นสีน้ำตาลคล้ำถึงสีดำ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายแหลม มนหรือค่อนข้างโค้งกลม โคนมน ตัด หรือรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนาเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๘ เส้น มักคดไปมา สังเกตเห็นได้ทางด้านบน และเห็นชัดทางด้านล่างเส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านบน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. เกลี้ยง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๔ กลีบ พบน้อยที่มี ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก ยาวรวมกัน ๒-๓ มม. มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโทหรือรูปไข่ป้อมยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๕ แฉก


ด้านนอกมีขนตามแนวกลางกลีบ ด้านในเกลี้ยงเกสรเพศผู้ ๒๔-๖๔ เกสร ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ที่เป็นหมันมีขนนุ่ม ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๘-๑๒ เกสร มีขนนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ อาจมีขนคล้ายเส้นไหมหรือเกลี้ยง มี ๘-๑๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๔ ก้าน มีขนคล้ายเส้นไหมหรือขนนุ่ม ยอดเกสรเพศเมียรวมทั้งสิ้น ๘ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างแป้น กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๒.๕-๔ ซม. เมื่ออ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ และขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปในเวลาต่อมา ผลสุกสีเหลืองอมส้ม กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน โคนเชื่อมติดกันและโอบหุ้มประมาณครึ่งหนึ่งของตัวผล ปลายพับกลับ มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน ขอบเป็นคลื่นและเห็นเส้นกลีบชัด ก้านผลยาว ๐.๒-๑ ซม. เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว มีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อน

 ตะโกสวนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามชายป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๕๐๐ ม. มักพบเป็นพืชปลูก ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ผลสุกกินได้ ผลอ่อนใช้เป็นยาสมุนไพรและใช้ย้อมตาข่ายและเสื้อผ้า เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องตกแต่งบ้านเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะโกสวน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. var. malabarica
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
malabarica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Desrousseaux, Louis Auguste Joseph
- Kosteletzky, Vincenz Franz
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. malabarica
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Desrousseaux, Louis Auguste Joseph (1753-1838)
- Kosteletzky, Vincenz Franz (1801-1887)
ชื่ออื่น ๆ
ตะโกไทย (กลาง); ปลาบ (เพชรบุรี); มสุลัวะ (กะเหรี่ยง-ลำปาง); มะเขือเถื่อน (สกลนคร)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย