ขางหางมนเป็นไม้ล้มลุกหลายปี เหง้าสั้น รากแขนงอวบยาวเป็นพวง ลำต้นเป็นลำต้นเทียม เกิดจากกาบโคนก้านใบเรียงซ้อนกันเป็นลำต้น สูง ๒-๕ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแผ่คลุมพื้นดินในต้นอ่อน และชี้ตั้งขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น รูปไข่กลับหรือรูปช้อนกว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๗-๑๖ ซม. ปลายมนหรือแหลมทู่โคนสอบและเป็นครีบแคบ ๆ ขอบหยักซี่ฟันเล็ก ๆ หรืออาจเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวด้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายยอด ลักษณะกึ่งช่อดอกโดด ซึ่งชูก้านช่อเดี่ยว ๆ สูงขึ้นไป ๔๐-๘๐ ซม. ก้านช่อมีใบประดับคล้ายใบ รูปขอบขนานแคบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. จำนวน ๑-๔ ใบ ใกล้ปลายสุดจะแยกแขนงเป็นกลุ่มช่อดอกย่อย โคนก้านช่อย่อยมีใบประดับรูปใบหอก กว้าง ๑-๘ มม. ยาว ๐.๕-๓ ซม. ปลายเรียวแหลม รองรับวงใบประดับรูปกรวยหรือรูประฆัง กว้างและยาว ๓-๔ มม. มีใบประดับ ๑๓ ใบ ยาว ๒-๓ มม. ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มีประมาณ ๑๐ ดอก กลีบเลี้ยงเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย กลีบดอกรูปลิ้น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีเหลือง ดอกวงในสมบูรณ์เพศ มีมากกว่า ๒๐ ดอก ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบเลี้ยงเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย สีขาวกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมเล็กยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเป็นเส้น อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน เชื่อมติดกันทางด้านข้าง โคนอับเรณูป้าน ปลายมีรยางค์รูปไข่แกมรูปใบหอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้ายยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายตัด ตามขอบมีต่อมทั่วไป
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี ยาวประมาณ ๒ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนรอบปลายผลเป็นเส้นละเอียดสีขาว เมล็ดเล็ก รูปคล้ายผล
ขางหางมนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าทุ่งหญ้าหรือระหว่างป่าสน ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา และทางตอนใต้ของจีน.