ก๋าวเครือ

Millettia extensa Benth.

ชื่ออื่น ๆ
กวาวเครือ
ไม้เถา ผลัดใบ กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปรี รูปขอบขนาน ถึงรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายยอดดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูแกมม่วง ฝักรูปขอบขนาน ขอบเป็นสันหนา แก่จัดแตกตามรอยประสาน

ก๋าวเครือเป็นไม้เถา ผลัดใบ ออกดอกพร้อมผลิใบใหม่หรือผลิใบหลังจากออกดอก กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนหนานุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว ๑๕-๔๐ ซม. ด้านบนแกนกลางเป็นร่อง หูใบรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ใบย่อย ๗-๙ ใบ รูปรี รูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ มีขนาดจากเล็กไปหาใหญ่เริ่มจากตอนล่างขึ้นไป กว้าง ๓-๑๑ ซม. ยาว ๕-๑๖ ซม. ปลายมนหรือสอบเรียวมีติ่งแหลม โคนเว้าเล็กน้อย แผ่นใบมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าด้านบน เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ยอดและที่ปลายยอด ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูแกมม่วงหรือขาวนวลถึงเหลืองอ่อนแต้มแดง ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ตอนปลายแยกเป็นหยักซี่ฟัน ขนาดเล็ก ๔ อัน กลีบดอก ๕ กลีบ ด้านนอกมีขนนุ่มเป็นมัน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลหลายเม็ด

 ฝักรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. เปลือกแข็ง หนา มีขนทึบ โคนฝักสอบ ปลายมนมีติ่ง ขอบเป็นสันหนา เมื่อแห้งแตกออกเป็น ๒ ซีก มี ๕-๗ เมล็ด สีน้ำตาลดำ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 ก๋าวเครือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นในป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูง ประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า อินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก๋าวเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Millettia extensa Benth.
ชื่อสกุล
Millettia
คำระบุชนิด
extensa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1800-1884)
ชื่ออื่น ๆ
กวาวเครือ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม