กาเล็ดกาเว้า

Stachyphrynium jagorianum (K.Koch) K.Schum.

ไม้ล้มลุก มีเหง้า ใบเรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน ใบด้านบนมีประสีเข้มเป็นทาง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายลำต้น ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกค่อนข้างกลม

กาเล็ดกาเว้าเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า

 ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ปลายเป็นติ่งยาว โคนสอบหรือมนแผ่นใบด้านบนมีประสีเขียวเข้มเป็นทาง บริเวณเส้นกลางใบมักมีขนสั้น ๆ ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน เกลี้ยงหรือมีขนสั้น ๆ เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีขนสั้น ๆ บริเวณช่วงต่อโคนใบและก้านใบ โป่งออก ยาวประมาณ ๑ ซม. กาบใบยาว ๘-๑๐ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้น ๆ ออกที่ปลายลำต้น ยาว ๓-๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. และยาวขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเป็นผล ดอกเล็ก สีขาว ตรงกลางสีเหลือง ใบประดับ ๔ ใบ เรียงตรงข้ามซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ใบประดับย่อย ๑-๒ คู่


กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เล็กมาก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๗ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ ๓ แฉก ยาวประมาณ ๙ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๒ อัน คล้ายกลีบดอก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๙ มม. และเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันอีก ๒ อัน รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแฉกสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี ๑ อัน รังไข่ อยู่ใต้วงกลีบ มีออวุล ๑-๓ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตก ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๑.๒ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด ขนาดเล็ก สีน้ำตาล รูปขอบขนาน ผิวเรียบ ด้านหนึ่งโค้งคล้ายหลังเต่า อีกด้านหนึ่งแบนราบ มีเยื่อนุ่มสีแดง

 กาเล็ดกาเว้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นในที่ร่มรําไรในป่าดิบชื้นที่สูงระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาเล็ดกาเว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Stachyphrynium jagorianum (K.Koch) K.Schum.
ชื่อสกุล
Stachyphrynium
คำระบุชนิด
jagorianum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Koch, Karl (Carl) Heinrich Emil (Ludwig)
- Schumann, Karl Moritz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Koch, Karl (Carl) Heinrich Emil (Ludwig) (1809-1879)
- Schumann, Karl Moritz (1851-1904)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม