กาลังกาสาตัวผู้เป็นไม้พุ่ม กิ่งก้านมีขนประปราย เปลือกขรุขระ สีน้ำตาลหรือเทา
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกหรือค่อนข้างเป็นรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายค่อนข้างเรียวแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบขนานกัน เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน หรือเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบ ยาว ๐.๕-๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ มีขนประปรายดอกสีชมพู ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนที่ขอบ กลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูตั้งตรง แหลม มีต่อมประปราย รังไข่รูปไข่ขนาดประมาณ ๑ มม. ก้านยอดเกสรเพศเมียเล็กเรียว ยาวประมาณ ๔ มม.
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม.
กาลังกาสาตัวผู้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ขึ้นตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๐๐-๑,๘๐๐ ม. พบครั้งแรกที่เขาแหลม จ. นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังพบที่ลพบุรีและที่เขาหลวง จ. นครศรีธรรมราช.