เงาะป่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็กสูงได้ถึง ๑๐ ม. กิ่งมีขนยาวสีน้ำตาลหนาแน่น ติดทน
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๔-๒๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลมถึงรูปหัวใจแคบขอบหยักซี่ฟันไม่สม่ำเสมอถึงเกือบเรียบ แผ่นใบบาง ผิวใบสีเทาแกมน้ำตาล ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นใบด้านล่างสีจางกว่าและมีขนปกคลุม เส้นใบด้านบนแบนด้านล่างนูน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๕ เส้น เรียงขนานกันเป็นระเบียบ ก้านใบยาว ๒-๘ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๕-๙ มม. มีขน
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ แต่ละช่อมี ๓-๒๐ ดอก เกือบไร้ก้าน ดอกขนาดเล็ก ใบประดับคล้ายกลีบเลี้ยง รูปใบหอก ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบด้านในแคบและยาวกว่ากลีบที่อยู่ด้านนอกเล็กน้อย รูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนยาวหนาแน่น กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว รูปแถบ ยาว ๕-๗ มม. ปลายกลีบโค้งลง ตรงกลางผิวด้านนอกมีแถบขนสีเงินแนบชิด เกสรเพศผู้ ๕ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย อับเรณูขนาดเล็ก ปลายแกนอับเรณูยื่นเป็นแผ่นรยางค์ทางด้านหลังของอับเรณู ยาวประมาณ ๑ ใน ๓ ของอับเรณูหรือสั้นกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวย มีขนยาวแนบชิด มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียตั้งตรง มีขนกางหนาแน่นที่โคนและค่อย ๆ น้อยลงไปทางด้านปลาย ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๓ พู
ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓.๕ ซม. มีเส้นใยสีน้ำตาลแยกแขนงหนาแน่น มีกลีบเลี้ยงติดทน เมื่อแก่แตกเป็น ๓ เสี้ยว แต่ละเสี้ยวมี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปทรงรี ยาว ๔-๗ มม. สีน้ำตาลซีด ผิวเป็นมันวาว
เงาะป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ป่าพรุ หรือบริเวณชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย.