ตะโกพนมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เปลือกสีเทาถึงสีดำ แตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีขาวแกมสีเหลือง แก่นสีน้ำตาลแดงถึงค่อนข้างดำ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือรูปไข่แกมรูปรีกว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๖-๑๓ ซม. ปลายมน แหลมหรือหยักเว้าตื้น โคนมนกว้างหรือหยักเว้า ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ปลายเส้นโค้งไปเกือบจดขอบใบแต่ไม่เชื่อมกัน เป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหสังเกตเห็นได้ในใบแห้ง ก้านใบยาว ๐.๔-๑ ซม. เกลี้ยง
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ก้านดอกสั้น ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีเขียวอ่อน ยาว ๓-๕ มม. ปลายหยักตื้น ๓ หยัก ด้านนอกมีขนคล้ายเส้นไหม ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ยาว ๑-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ส่วนที่แยกยาวเท่ากับส่วนที่ติดกัน มีขนทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๒-๑๔ เกสร เกลี้ยง รังไข่ที่เป็นหมันเกลี้ยง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบทรงรูปไข่ มีขนนุ่มหนาแน่น มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน มีขนนุ่มยอดเกสรเพศเมียปลายตัด
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ผนังผลหนาประมาณ ๒ มม. เกลี้ยงหรืออาจมีขนนุ่มบริเวณโคนผล เมื่อแห้งแข็งเหมือนไม้ กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน ขอบเป็นคลื่น ปลายพับกลับ ก้านผลยาวประมาณ ๕ มม. เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยวมีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อน
ตะโกพนมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบตามป่าผลัดใบหรือป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐-๔๐๐ ม.
ประโยชน์ ผลให้น้ำฝาดใช้ย้อมแห อวน และเสื้อผ้า เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป.