ตะขาบชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุก กึ่งอิงอาศัย ยาวได้ถึง ๒๐ ม. มีรากเกาะเลื้อย ช่วงแรกขึ้นบนดิน ต่อมาขึ้นอิงอาศัย ลำต้นเรียบ ลำต้นที่เลื้อยเป็นสี่เหลี่ยม พบบ่อยที่สันเป็นครีบเล็กน้อย บริเวณที่อยู่ระหว่างสันเว้าเป็นร่อง ลำต้นที่ไม่เลื้อยเป็นสี่เหลี่ยมหรือกึ่งรูปทรงกระบอก สีเขียว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ค่อนข้างถี่ตามปลายกิ่ง รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปเคียว กว้าง ๑.๘-๘.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๓๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนเบี้ยวหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว เป็นมันเล็กน้อย ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องเล็กน้อยทางด้านบน นูนเล็กน้อยทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานแบบขนนก นูนเล็กน้อยทั้ง ๒ ด้าน มีเส้นระหว่างเส้นแขนงใบเรียงขนานกับเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบกว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๑-๘.๕ ซม. เป็นร่องลึกทางด้านบน เรียบ ช่วงปลายก้านใบป่อง กาบใบยาวตลอดความยาวก้านใบ ขอบกาบเป็นเส้นใย
ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวตามปลายกิ่ง มีใบแท้รองรับ ๑ ใบ กาบช่อดอกสีเหลืองหม่น ด้านในสีอ่อนกว่า รูปทรงรีแคบ กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๔.๕-๗.๕ ซม. ปลายมีจะงอยสั้นมาก กาบค่อนข้างบาง แต่มีเนื้อและแข็ง ร่วงหลังดอกบานเต็มที่ ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก แบนข้าง กว้าง ๑.๕-๕ มม. ยาว ๒-๘.๕ ซม. ช่อดอกรูปทรงกระบอกแกมรูปคล้ายกระบอง กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ ดอกสมบูรณ์เพศ ไร้กลีบรวม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยื่นออกมาในระยะดอกบานเต็มที่ ก้านชูอับเรณูรูปแถบแกมรูปขอบขนาน อับเรณูสั้นกว่าก้านชูอับเรณู แกนอับเรณูเรียว พูอับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก แถบก้านยอดเกสรเพศเมียรูปหกเหลี่ยมแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายตัด ยอดเกสรเพศเมียเล็กนูน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ มม.
ช่อผลรูปทรงกระบอกแกมรูปคล้ายกระบอง กว้าง ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๖-๘ ซม. ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด แถบก้านยอดเกสรเพศเมียขยายใหญ่ในระยะเป็นผล ร่วงเมื่อผลแก่ เมล็ดรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก
ตะขาบชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าที่ลุ่มต่ำชื้นแฉะ ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา หมู่เกาะซุนดาน้อย เกาะบอร์เนียว และหมู่เกาะโมลุกกะ.