ดอกไม้หินแม่ฝาง

Hydrobryum griffithii (Wall. ex Griff.) Tul.

ไม้น้ำล้มลุกปีเดียว ขนาดเล็กมาก รากสีเขียว แผ่แบนราบเกาะแนบกับหินตามธารน้ำไหล ลำต้นสั้นมากหรือ ไม่เจริญ รากเจริญได้ดี ใบเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย ออกเป็นกระจุก ดอกเดี่ยว สีน้ำตาล เกาะติดแนบกับส่วนราก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก


     ดอกไม้หินแม่ฝางเป็นไม้น้ำล้มลุกปีเดียว ขนาด เล็กมาก มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากพืชอื่น ๆ คือ ราก สีเขียว แผ่แบนราบเกาะแนบกับหินตามธารน้ำไหล กว้าง ประมาณ ๑ ซม. ขอบหยักเว้า และจะเกาะติดแน่นมาก สามารถทนทานต่อกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวและแรงได้เป็น อย่างดี ลำต้นสั้นมากหรือไม่เจริญ
     ใบเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย ยาว ๑-๒ ซม. ออกเป็น กระจุก กระจุกละ ๕-๑๕ ใบ เจริญขึ้นมาจากส่วนราก
     ดอกเดี่ยว สีน้ำตาล เกาะติดแนบกับส่วนราก ใบประดับ ๕-๖ ใบ เรียงซ้อนสลับ รูปไข่หรือรูปแถบ ยาว ๒-๓ มม. ใบในสุดเป็นกาบหุ้มดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. กลีบรวม ๒ กลีบ บางคล้ายเยื่อ รูปแถบ ยาว ๒.๕-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ยาว ๓.๕-๔.๕ มม. ก้าน ชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาว อับเรณูรูปรี ยาวประมาณ ๐.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒๒-๒๙ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ พู
     ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรี ยาว ๒-๓ มม. ก้านผลสั้นมาก มีสันเล็กตามยาว ๑๒-๑๔ สัน เมล็ดขนาด เล็ก มีจำนวนมาก
     ดอกไม้หินแม่ฝางมีเขตการกระจายพันธุ์ใน ประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามหินในธารน้ำไหล ที่สูง จากระดับทะเลประมาณ ๖๔๐ ม. ออกดอกและเป็นผล เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมช่วงน้ำลด ในต่างประเทศพบ ที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้แถบมณฑลยูนนาน และเวียดนามตอนเหนือ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดอกไม้หินแม่ฝาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hydrobryum griffithii (Wall. ex Griff.) Tul.
ชื่อสกุล
Hydrobryum
คำระบุชนิด
griffithii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Wall. ex Griff.)
- Tul.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Wall.) ช่วงเวลาคือ (1786-1854)
- Griff. ช่วงเวลาคือ (1810-1845)
- Tul.ช่วงเวลาคือ (1815-1885)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.