ชบาต้น

Hibiscus flavotrichus C. E. C. Fisch.

ไม้ต้น เรือนยอดค่อนข้างแน่นทึบ เปลือกเรียบ มีขนรูปดาวขนาดเล็กหนาแน่น มีช่องอากาศขนาดเล็กจำนวนมากตามแนวยาวของลำต้น เมื่อแก่แตกเป็นร่องตื้น ๆ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจ รูปไข่กว้างแกมรูปหัวใจ หรือรูปไข่กว้าง ก้านใบรูปทรงกระบอก ปลายและโคนก้านพองเล็กน้อย ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ สีชมพู ปลายกลีบสีชมพูอ่อน กลางดอกสีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกกลางพูรูปคล้ายลูกข่าง สีเขียวอมน้ำตาล เมื่อแก่สีน้ำตาล มีกลีบเลี้ยงและริ้วประดับติดทน เมล็ดรูปไตมีขนหยิกยาวสีน้ำตาลหนาแน่น

ชบาต้นเป็นไม้ต้น สูง ๑๓-๒๓ ม. เรือนยอดค่อนข้างแน่นทึบ เปลือกเรียบ มีขนรูปดาวขนาดเล็กหนาแน่น มีช่องอากาศขนาดเล็กจำนวนมากตามแนวยาวของลำต้น เมื่อแก่แตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู กระพี้สีขาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจ รูปไข่กว้างแกมรูปหัวใจ หรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๗-๙.๕ ซม. ยาว ๒.๘-๑๑.๕ ซม. ปลายแหลมสั้นหรือค่อนข้างทู่โคนเว้ารูปหัวใจ อาจเว้าตื้น ตัดตรง หรือป้าน ขอบหยักมนห่าง เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เส้นกลางใบด้านล่างบริเวณใกล้โคนใบมีต่อม ๑ ต่อม รูปรี กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒-๓.๕ มม. ก้านใบรูปทรงกระบอกปลายและโคนก้านพองเล็กน้อย หูใบรูปไข่กว้างกึ่งรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๘-๒ มม. ยาว ๓.๒-๓.๕ มม. ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ พบน้อยที่ออก ๒ ดอก ก้านดอกยาว ๓-๓.๕ ซม. มีขนรูปดาวขนาดเล็กหนาแน่น ริ้วประดับมี ๕-๖ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๒-๓.๕ มม. ยาว ๔.๕-๕ มม. สีเขียวอ่อน มีขนสั้นสีขาวทั้ง ๒ ด้าน เมื่อแก่จะพับกลับไปทางก้านดอก กลีบเลี้ยงรูประฆัง กว้างและยาวประมาณ ๑.๗ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. ปลายแหลม กลางแฉกกลีบเลี้ยงด้านนอกมีสันนูนและมีต่อมกลมขนาดใหญ่ ๑ ต่อม กลีบดอกสีชมพู มี ๕ กลีบ เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. ปลายกลีบสีชมพูอ่อน กลางดอกสีเขียวอ่อนอมเหลือง แต่ละกลีบรูปไข่กลับกว้างถึงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๒-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ปลายกลมหรือมน โคนสอบ ขอบค่อนข้างเรียบ มีลายเส้นสีชมพูตามยาว ๑๓-๑๕ เส้น ด้านในค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวขนาดเล็กประปราย ด้านนอกมีขนต่อมรูปดาว เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกมักพับกลับ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒.๗-๓.๓ ซม. สีชมพูเรื่อ ๆ ก้านชูอับเรณูส่วนที่แยกเป็นอิสระ สีชมพู ยาว ๒-๒.๕ มม. ติดตั้งแต่กลางหลอดถึงปลายหลอด อับเรณูสีเหลืองอมส้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว ๓-๓.๓ ซม. อยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ ปลายเกสรเพศเมียแยก ๕ แฉก โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มแบน

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปคล้ายลูกข่างเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นสีเขียวอมน้ำตาล เมื่อแก่สีน้ำตาล มีขนรูปดาวปน


ขนธรรมดาหนาแน่น มีกลีบเลี้ยงและริ้วประดับติดทนมี ๕ ช่อง แต่ละช่องมี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปไต กว้าง ๐.๘-๐.๙ มม. ยาว ๒.๘-๓ มม. มีขนหยิกยาวสีน้ำตาลหนาแน่น

 ชบาต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นที่ถูกรบกวน ป่ารุ่นบริเวณที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาตอนใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชบาต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hibiscus flavotrichus C. E. C. Fisch.
ชื่อสกุล
Hibiscus
คำระบุชนิด
flavotrichus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fischer, Cecil Ernest Claude
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1874-1950)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายอรุณ สินบำรุง