ขางสุเทพ

Embelia sootepensis Craib

ไม้พุ่มรอเลื้อย ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่กลับถึงรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศต่างต้นหรือดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอมเขียวอ่อนมีจุดเล็กสีแดงทั่วไป

ขางสุเทพเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๒-๓ ม. กิ่งก้านเล็กเรียว มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงประปราย เปลือกค่อนข้างบาง สีเทา แตกเป็นร่องละเอียด

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่กลับถึงรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๙ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม โคนรูปลิ่มถึงมน ขอบหยักซี่ฟันชัดเจน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนแข็งเอนหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีขนประปรายตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ไม่พบดอกเพศเมียและดอกสมบูรณ์เพศช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๐.๕-๑ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔-๕ แฉก รูปใบหอกกว้างประมาณ ๐.๔ มม. ขอบมีขนครุย ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอกสีเหลืองอมเขียวอ่อน มีจุดเล็ก ๆ สีแดงทั่วไป โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๔-๕ แฉก รูปรีถึงรูปรีแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีปุ่มเล็ก ๆ หนาแน่นและมีต่อมเป็นจุดสีดำ เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ติดอยู่บนแฉกกลีบดอกต่ำกว่าบริเวณกึ่งกลางกลีบเล็กน้อย อับเรณูสีขาว รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ ๐.๖ มม. แตกตามยาว แกนอับเรณูมีจุดสีส้มแดงขนาดเล็กก้านชูอับเรณูสีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลดรูป

 ผล ยังไม่มีข้อมูล

 ขางสุเทพเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าผสมหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางสุเทพ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Embelia sootepensis Craib
ชื่อสกุล
Embelia
คำระบุชนิด
sootepensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์