กาแร้งหิน

Koilodepas longifolium Hook.f.

ชื่ออื่น ๆ
กระดูกค่าง, งา (นครศรีธรรมราช); จีมุด (ตรัง); ย่านหางโยง (สุราษฎร์ธานี)
ไม้ต้น กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก และผลมีขนนุ่ม ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศร่วมช่อออกเป็นช่อเชิงลดเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามง่ามใบ สีเหลืองถึงสีส้ม ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม มี ๓ พู

กาแร้งหินเป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๑๐ ม. กิ่งอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก ดอก และผลมีขนหนานุ่มผสมในรูปดาวสั้น ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๕-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนป้านถึงมน ขอบหยักห่าง ๆ แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๓ เส้น เส้นใบเห็นได้ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ชม. หูใบเรียวเล็ก รูปใบหอก ยาว ๒-๕ มม. ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ออกเป็นช่อเชิงลดเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามง่ามใบและตามกิ่ง ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ดอกเล็กสีเหลืองถึงสีส้ม ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๒๐ ดอก แต่ละกลุ่มทั้งช่วงห่างกันเป็นระยะ ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้กลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย


ปลายแยกเป็น ๓-๔ แฉก ไม่ซ้อนกัน เกสรเพศผู้ ๔-๖ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น โคนก้านติดกัน ตรงกลางมีเกสรเพศเมียเป็นหมันขนาดเล็ก ๑ อัน ก้านดอกสั้นมาก ดอกเพศเมียอยู่ตรงโคนก้านช่อดอก ขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ประมาณ ๓ เท่า กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ เรียงเกยซ้อนกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น แยกเป็น ๓ แฉก แต่ละแฉกหยักเว้าเป็นง่าม ก้านดอกสั้น

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม ๓ พู กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านผลยาว ๑-๑.๕ ซม. เมื่อแก่จะแตกออกเป็น ๓ ส่วน แต่ละส่วนมี ๑ เมล็ด ค่อนข้างกลมสีน้ำตาลเข้มถึงดำ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๙ มม.

 กาแร้งหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นในป่าดิบ ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาแร้งหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Koilodepas longifolium Hook.f.
ชื่อสกุล
Koilodepas
คำระบุชนิด
longifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
กระดูกค่าง, งา (นครศรีธรรมราช); จีมุด (ตรัง); ย่านหางโยง (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม