การะเกด

Pandanus tectorius Blume

ชื่ออื่น ๆ
การะเกดด่าง, ลำเจียกหนู (กรุงเทพฯ); เตยด่าง (กลาง)
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ ใบเรียงเวียนกันเป็น ๓ เกลียวที่ปลายกิ่ง รูปรางน้ำ ขอบมีหนามแข็ง ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อตามปลายยอดไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง มีกาบสีนวลหุ้ม กลิ่นหอม ช่อดอกเพศเมียค่อนข้างกลม ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง เบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม

การะเกดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง ๓-๗ ม. ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนกันเป็น ๓ เกลียวที่ปลายกิ่ง รูปรางน้ำกว้าง ๐.๗-๒.๕ ซม. ยาว ๓-๙ ซม. ค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลาย ขอบมีหนามแข็งยาว ๐.๒-๑ ซม. แผ่นใบด้านล่างมีนวล

 ดอกแยกเพศต่างต้น ออกเป็นช่อตามปลายยอด มีดอกจำนวนมากติดบนแกนช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง ยาว ๒๕-๖๐ ชม. มีกาบสีนวลหุ้ม กลิ่นหอมเกสรเพศผู้ติดรวมอยู่บนก้านซึ่งยาว ๐.๘-๒ ซม. ช่อดอกเพศเมียค่อนข้างกลม ประกอบด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ๓-๕ อัน เป็นกลุ่ม ๕-๑๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มกว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายหยักตื้นเป็นร่องระหว่างยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียเรียงเป็นวง

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง เบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐-๒๐ ซม. แต่ละผลกว้าง ๒-๖.๕ ซม. ยาว ๔-๗.๕ ซม. เมื่อสุกกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางสีแสด ตรงปลายยอดสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วมีโพรงอากาศจำนวนมาก

 การะเกดพบเฉพาะตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล แต่นำไปปลูกกันทั่วไป ในต่างประเทศพบในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
การะเกด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus tectorius Blume
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
tectorius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
การะเกดด่าง, ลำเจียกหนู (กรุงเทพฯ); เตยด่าง (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต