การบูรป่าเป็นไม้ล้มลุก สูง ๒๐-๕๐ ซม. มีขนทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงทั้งตรงข้ามและเรียงเป็นวงรอบ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๗-๒ ซม. ยาว ๑-๖ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนสอบหรือมน ขอบหยักซี่ฟัน มีขนทั้ง ๒ ด้าน และมีต่อมเล็ก ๆ อยู่ด้านล่าง กลิ่นฉุนคล้ายการบูร ก้านใบสั้น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น รูปทรงกลมหรือทรงกระบอกออกตามง่ามใบและปลายยอด กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๓-๘ ซม. ที่โคนช่อมีใบประดับคล้ายใบเป็นรูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปแถบรองรับ ดอกเล็ก สีน้ำเงินหรือม่วง มีจำนวนมาก ที่โคนดอกมีใบประดับย่อยรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๔ มม. มีขน กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ขนาดไม่เท่ากัน ๕ แฉก ยาว ๒-๓ มม. มีขนยาว กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดยาว ๓-๕ มม. ปลายเป็นรูปปากเปิด ขนาดไม่เท่ากัน ปากด้านบนมี ๑ กลีบ ค่อนข้างกลม ปลายกลีบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ปากด้านล่างมี ๓ กลีบ และมีขนาดกลีบเล็กกว่าด้านบน เกสรเพศผู้ ๔ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ๑ คู่ ยาว ๑ คู่ ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบขนาดเล็ก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปไข่ ยาว ๓-๔ มม. เมล็ดรูปไข่ขนาดเล็กมาก
การบูรป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นทั่วไปในที่โล่ง บนพื้นที่ใกล้ระดับน้ำทะเลไปจนถึงสูง ประมาณ ๓๖๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย บางประเทศใช้เป็นยาแผนโบราณแก้อาการปวดท้อง (Burkill, 1966).