การบูรเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๑๕ ม. อาจสูงได้ถึง ๓๐ ม. ลำต้นและกิ่งเรียบ ทุกส่วนมีกลิ่นหอมของการบูร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รากและโคนต้นจะมีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่น ๆ ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมหุ้มอยู่ เกล็ดชั้นนอกเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปรี กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างเหนียว ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีนวลเส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น คู่ล่างเห็นชัดกว่าคู่บน ๆ และออกใกล้โคนใบ มีต่อม ๒ ต่อมที่ง่ามใบคู่ล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาวประมาณ ๗ ซม. ใบประดับเรียวยาว ร่วงง่าย มีขนอ่อนนุ่ม ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน ก้านดอกสั้นมาก กลีบรวม ๖ กลีบ รูปรี ปลายมน ยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ด้านในมีขนนุ่ม เกสรเพศผู้ ๙ อัน เรียงเป็น ๓ วง วงนอกและวงกลางแยกกัน มีขนนุ่มประปราย วงในมีขนและมีต่อมไม่มีก้านรูปหัวใจ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม.
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๒ ซม. สีเขียวเข้ม ผลสุกสีดำ มี ๑ เมล็ด
การบูรเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของจีน ญี่ปุ่น และไต้หวันต่อมาได้นำไปปลูกในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อียิปต์ แอฟริกาใต้ บราซิล จาเมกา สหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย และอินโดนีเซีย
เมื่อนำส่วนต่าง ๆ ของการบูรมากลั่นจะได้น้ำมันระเหยง่าย ซึ่งประกอบด้วยสารต่าง ๆ เช่น camphor, safrol, cineole, pinene, camphene, phellandrene และ limonene สําหรับ camphor จะเป็นผลึกแยกออกมาเรียกว่า การบูร ใช้เป็นยาระงับเชื้ออย่างอ่อน ยากระตุ้นหัวใจ ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปวด ทำยาทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ.