ตะโกนา

Diospyros rhodocalyx Kurz

ชื่ออื่น ๆ
โก, นมงัว (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะโก, มะถ่านไฟผี (เหนือ)
ไม้ต้น ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว ปลายกิ่งอาจมีส่วนแข็งคล้ายหนาม เปลือกสีดำแตกเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างแป้น ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคล้ายกำมะหยี่ ผลแก่เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง กลีบเลี้ยงติดทน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วน ขอบเป็นคลื่น เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว ถ้าตัดตามขวางจะมีรอยด่าง

 ตะโกนาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว ปลายกิ่งอาจมีส่วนแข็งคล้ายหนาม เปลือกสีดำแตกเป็นสะเก็ด กระพี้สีขาวแกมสีเหลือง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๓-๑๒ ซม. ปลายมนหรือแหลมทู่ โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรืออาจเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางถึงค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างเมื่ออ่อนมีขนนุ่ม เส้นใบ ๓ เส้น เส้นคู่ข้างไปสุดที่ขอบใบประมาณกึ่งกลางใบ เส้นแขนงใบที่ออกจากเส้นกลางใบมีข้างละ ๕-๘ เส้น ค่อนข้างเหยียดตรงปลายเส้นมักเชื่อมกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เป็นร่องทางด้านบนและนูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน มักออกสีชมพูเรื่อเมื่อใบแห้ง ก้านใบยาว ๒-๗ ซม. เมื่ออ่อนมีขนหนานุ่ม

 ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุกหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขนนุ่มทางด้านนอกและมีขนคล้ายเส้นไหมทางด้านใน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๔-๑๖ เกสร รังไข่ที่เป็นหมันมีขนนุ่ม ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายของดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๘-๑๐ เกสร มีขนคล้ายเส้นไหม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนคล้ายเส้นไหม มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน มีขนคล้ายเส้นไหม ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๔ หยัก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือค่อนข้างแป้น กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เปลือกบางมักเปราะเมื่อแห้ง ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคล้ายกำมะหยี่ ผลแก่เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง กลีบเลี้ยงติดทน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ประมาณ ๒ ใน ๓ ส่วน รูปไข่ โคนจีบ ขอบเป็นคลื่น ก้านผลยาว ๒-๕ มม. เมล็ดแข็ง รูปไตหรือรูปจันทร์เสี้ยว มีเยื่อหุ้มสีน้ำตาลอ่อนถ้าตัดตามขวางจะมีรอยด่าง

 ตะโกนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบตามป่าละเมาะและทุ่งโล่งทั่วไป ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๓๐๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาวและเวียดนาม

 ประโยชน์ เนื้อไม้ทำเครื่องมือทางเกษตรและเครื่องตกแต่งบ้าน ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า แห อวน ผลสุกใช้รับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะโกนา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diospyros rhodocalyx Kurz
ชื่อสกุล
Diospyros
คำระบุชนิด
rhodocalyx
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
โก, นมงัว (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะโก, มะถ่านไฟผี (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย