ตะขาบ ๑

Rhaphidophora minor Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ชะงดหนู (นราธิวาส); ดาดอลีแป (มลายู-นราธิวาส)
ไม้เลื้อยล้มลุก กึ่งอิงอาศัย มีรากเกาะเลื้อย ลำต้นที่เลื้อยเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย ด้านที่แคบค่อนข้างเป็นร่องตามยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีแกมรูปเคียวแคบ รูปใบหอกแกมรูปเคียว หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปเคียว เมื่อแห้งสีฟางอ่อน กาบใบยาวตลอดความยาวก้านใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวตามปลายกิ่ง กาบช่อดอกสีเขียวหม่นหรือสีเหลืองหม่น รูปทรงกระบอกแคบแกมรูปทรงรี ปลายมีจะงอยยาว ช่อดอกรูปทรงกระบอกเรียว สีขาวแกมสีเหลืองหม่น ดอกสมบูรณ์เพศ ไร้กลีบรวม ช่อผลรูปทรงกระบอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด เมล็ดรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

ตะขาบชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุก กึ่งอิงอาศัย ยาวได้ถึง ๖ ม. มีรากเกาะเลื้อย ช่วงแรกขึ้นบนดิน ต่อมาขึ้นอิงอาศัย ลำต้นเรียบ คดไปมา เมื่อแก่แข็ง ลำต้นที่เลื้อยเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย ปล้องสั้น ด้านที่แคบค่อนข้างเป็นร่องตามยาว ลำต้นที่ไม่เลื้อยค่อนข้างแบนข้าง ปล้องกว้างได้ถึง ๑.๒ ซม. ยาวได้ถึง ๑๓ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ห่างกันตามส่วนโคนกิ่งที่ไม่สร้างช่อดอก ค่อนข้างถี่ตามปลายกิ่งที่สร้างช่อดอก รูปรีแกมรูปเคียวแคบ รูปใบหอกแกมรูปเคียว หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปเคียว กว้าง ๑.๒-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวถึงสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เมื่อแห้งสีฟางอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานแบบขนนก นูนทั้ง ๒ ด้าน นูนเด่นชัดในใบแห้ง มีเส้นระหว่างเส้นแขนงใบเรียงกึ่งขนานกับเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบกว้าง ๑-๒.๕ มม. ยาว ๓-๖ ซม. เป็นร่องทางด้านบน เรียบ ช่วงปลายก้านใบป่อง กาบใบยาวตลอดความยาวก้านใบ ขอบกาบเป็นเส้นใย

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวตามปลายกิ่ง มีใบแท้รองรับ ๑ ใบ กาบช่อดอกสีเขียวหม่นหรือสีเหลืองหม่น รูปทรงกระบอกแคบแกมรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓-๙ ซม. ปลายมีจะงอยยาว กาบบาง ร่วงหลังดอกบานเต็มที่ มีรอยแผลกาบตรง ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก แบนข้าง กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๓-๔ ซม. ช่อดอกสีขาวแกมสีเหลืองหม่น รูปทรงกระบอกเรียว กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๒.๕-๗ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ ดอกสมบูรณ์เพศ ไร้กลีบรวม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยื่นออกมาในระยะดอกบานเต็มที่ ก้านชูอับเรณูรูปแถบแกมรูปขอบขนาน อับเรณูสั้นกว่าก้านชูอับเรณู แกนอับเรณูเรียว พูอับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก แถบก้านยอดเกสรเพศเมียรูปหกเหลี่ยมแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๑.๔-๒ มม. ปลายตัด ยอดเกสรเพศเมียเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ มม.

 ช่อผลรูปทรงกระบอก กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๗ ซม. ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด แถบก้านยอดเกสรเพศเมียขยายใหญ่ในระยะเป็นผล ร่วงเมื่อผลแก่ เมล็ดรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

 ตะขาบชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าบึงน้ำจืด พื้นที่เปิดโล่งริมลำธาร และริมแม่น้ำในป่าที่ลุ่มต่ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย

 ตะขาบ ๑ มีลักษณะคล้ายกับตะขาบ ๒ [Rhaphidophora sylvestris (Blume) Engl.] ต่างกันที่ตะขาบ ๑ มีเส้นใบนูนเด่นชัดกว่า ปลายกาบช่อดอกมีจะงอยยาว และใบแห้งสีฟางอ่อน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะขาบ ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhaphidophora minor Hook. f.
ชื่อสกุล
Rhaphidophora
คำระบุชนิด
minor
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ชะงดหนู (นราธิวาส); ดาดอลีแป (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี