ชบาดงเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เกือบทุกส่วนมีขนรูปดาวขนาดเล็กสีน้ำตาลแดงและมีเกล็ดทั่วไป ขอบเกล็ดเป็นครุย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปกลมหรือรูปไข่ กว้าง ๖-๑๙ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบเรียบ หยักซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ เป็นเหลี่ยมหรือเป็นแฉก ๓-๕ แฉก เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ตามเส้นใบมีขนรูปดาวทั้งด้านบนและด้านล่างแผ่นใบด้านล่างมีต่อมรูปแถบอยู่ระหว่างกึ่งกลางใบกับโคนใบ ก้านใบยาว ๒-๕.๕ ซม. มีขนและเกล็ดหูใบรูปช้อน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. หนา และมีขนรูปดาว
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว ๑-๓ ซม. มีขนและเกล็ด ไม่มีข้อต่อ ริ้วประดับโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังกว้าง ส่วนที่เชื่อมติดกันยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. กว้าง ๑.๘-๒.๒ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๖-๘ แฉก ปลายมนหรือแหลม ยาว ๐.๕-๑ ซม. ด้านนอกมีขนและเกล็ด ด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. มีขนและเกล็ด กลีบดอก ๕ กลีบ รูปช้อน สีเหลืองสดถึงสีส้ม กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๙-๑๑ ซม. ปลายกลีบมน โคนแคบและมีลายเป็นเส้นสีแดงเข้ม ด้านนอกมีขนรูปดาว ด้านในเกลี้ยงเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๘-๑๐ ซม. โคนหลอดมีขนรูปดาวหนาแน่น มีอับเรณูติดบริเวณกึ่งกลางหลอดถึงปลายหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวยปลายมน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. มี ๑๐ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๖-๗ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้ายอยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาว ๔-๕ มม. มีขน โผล่พ้นหลอดเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มีขนสั้นสีแดง
ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. มีกลีบเลี้ยงติดทนและยาวกว่าผล เมล็ดรูปคล้ายไต ยาวประมาณ ๗ มม. สีน้ำตาลดำ มีขนเอนราบแนบกับผิวและขนยาวรูปดาว
ชบาดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามชายน้ำ ชายป่า และที่โล่งแจ้งที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง เปลือกใช้ทำเชือก เส้นใยใช้ทำกระดาษ.