ครำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. เปลือกหยาบ สีเทาถึงสีน้ำตาล แตกล่อนเป็นแผ่น กิ่งเรียวเล็กกิ่งอ่อนมีขน
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๑๒-๒.๔ ซม. ยาว ๒.๔-๖.๔ ซม. ปลายมนหรือแหลม มีติ่งหนาม โคนมนหรือแหลมและเบี้ยว ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๑ เส้น มีขน ก้านใบยาว ๒.๕-๓.๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกเป็นกระจุกตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ ๓ ดอก เป็นดอกเพศผู้ ๒ ดอก ดอกเพศเมีย ๑ ดอก กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. ก้านดอกยาวได้ถึง ๗.๒ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน แข็ง รูปรีถึงรูปไข่กลับ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอกสุดกว้าง ๑.๑-๑.๓ มม. ยาว ๒.๓-๒.๕ มม. กลีบในสุดกว้าง ๐.๖-๐.๙ มม. ยาว ๒-๒.๓ มม. เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ใคนก้านชูอับเรณููเชื่อมติดกันประมาณ ๑ มม. อับเรณูรูปแถบยาวประมาณ ๐.๖ มม. สีเขียวอ่อน ปลายแกนอับเรณููมีรยางค์แหลม ยาวประมาณ ๐.๒ มม. ดอกเพศเมีย มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๕-๔ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๒ ซม. กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม สีเขียวอ่อน ขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอกสุดกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ มม. กลีบในสุดกว้างประมาณ ๐.๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย ยาว ๑.๒-๒ มม. ปลายแหลมและมีรอยหยัก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๔ ซม.ไม่เป็นพู สีเขียวอมเหลือง ผนังหนา เมล็ดรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. สีแดง
ครำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้พบขึ้นตามป่าโปร่ง ใกล้ลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์.