ขางไวเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงหรือยาวได้ถึง ๑.๕ ม. เปลือกเรียบ ด้านนอกแข็ง ด้านในเป็นเยื่อนุ่มหรือกลวง
ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกตามปลายยอด รูปแถบกว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนสอบแคบเป็นครีบ ๒ ข้างของก้านใบสู่ลำต้น ขอบจักฟันเลื่อยห่าง ๆ หรือเรียบ แผ่นใบบาง ด้านบนสีเขียวด้าน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น พอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ไม่มีก้านใบช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งยาว ๔-๕ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยช่อย่อย ๑-๓ ช่อ ก้านช่อและก้านช่อย่อยมีใบประดับรูปคล้ายใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. วงใบประดับรูปกรวยหรือรูประฆัง กว้างและยาว ๐.๕-๑ ซม. วงใบประดับย่อยที่โคนไม่ปรากฏ ใบประดับรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. มีประมาณ ๑๕ ใบ ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มีประมาณ ๖ ดอก กลีบเลี้ยงเป็นเส้นคล้ายเส้นด้าย กลีบดอกรูปลิ้น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗.๕ มม. สีเหลือง ดอกวงในสมบูรณ์เพศ มีประมาณ ๒๐ ดอก ยาวประมาณ ๕ มม. ไม่มีกลีบเลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมเล็ก ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเป็นเส้น อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน เชื่อมติดกันทางด้านข้าง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายตัดตามขอบมีต่อมทั่วไป
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี ยาวประมาณ ๒ มม. ไม่มีกลีบเลี้ยงหรือกระจุกขนที่ปลายผล เมล็ดเล็กรูปคล้ายผล
ขางไวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก พบตามป่าทุ่งหญ้าที่มีน้ำขัง ที่สูงจากระดับทะเล ๗๐๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบทางตอนใต้ของอินเดีย เมียนมา และจีน.