กระเชา

Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch.

ชื่ออื่น ๆ
กระเจา, กระเจ้า (กลาง, ใต้); กระเจาะ, ขจาว, ขเจา, ขะเจา (ใต้); กระเช้า (กาญจนบุรี); กระเชาะ (ราชบุรี
ไม้ต้น ผลัดใบ เปลือกมีช่องอากาศ ใบเรียงสลับรูปรีหรือรูปไข่กลับ ใบด้านล่างมีขนนุ่ม ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกสีเขียวอ่อน มีแต่กลีบเลี้ยง ผลแบบผลปีกเดียว มีปีกบางล้อมรอบ ปลายสุดมีก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ อัน

กระเชาเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๕-๓๐ ม. แตกกิ่งต่ำลำต้นมักแตกง่ามใกล้โคนต้น เปลือกสีน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศสีขาวทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนานกว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๗-๑๔ ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว มนมักเว้าเล็กน้อยตรงก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นจักห่าง ๆ แผ่นใบด้านบนมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนนุ่มทั่วไป ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๓ ซม. มีหูใบรูปใบหอกขนาดเล็ก ๑ คู่ ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. มีขน อาจมีดอกสมบูรณ์เพศปะปนอยู่บนช่อวงกลีบรวมมี ๕-๖ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบแยกจากกัน มีขนทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๓-๙ อัน อับเรณูมีขนประปรายรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลปีกเดียว รูปรี แบน มีปีกบางล้อมรอบ กว้าง ๐.๘-๑.๔ ซม. ยาว ๑.๓-๒ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ อัน ติดค้างอยู่ที่ส่วนบนสุด บริเวณปีกมีลายเส้นออกเป็นรัศมีโดยรอบ

 กระเชามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าทุ่งทั่วไป บนที่ราบหรือตามเชิงเขาที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนักในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า และภูมิภาคอินโดจีน

 เป็นไม้โตเร็วและทนไฟป่าได้ดี เนื้อไม้สีเหลืองอ่อนหรือสีเทาอมเหลือง แข็งปานกลาง เมื่อแห้งแล้วเหนียวมาก ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องกลึง แกะสลักได้ดี เปลือกใช้บำบัดโรคเรื้อน สุนัขและเป็นยากันตัวไร แก้ปวดข้อ (กรมป่าไม้, ๒๕๒๗) ทำเชือก กระดาษ และกระสอบได้

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระเชา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Holoptelea integrifolia (Roxb.) Planch.
ชื่อสกุล
Holoptelea
คำระบุชนิด
integrifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Planchon, Jules Émile
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Planchon, Jules Émile (1823-1888)
ชื่ออื่น ๆ
กระเจา, กระเจ้า (กลาง, ใต้); กระเจาะ, ขจาว, ขเจา, ขะเจา (ใต้); กระเช้า (กาญจนบุรี); กระเชาะ (ราชบุรี
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข