ก้ามปูหลุดเป็นไม้ล้มลุก แตกแขนงมาก ลำต้นทอดราบไปตามพื้น ชูส่วนปลายกิ่งสูง ๑๐-๓๐ ซม. ลำต้นอวบ สีเขียวหรือเขียวประม่วงจนถึงม่วงลายเขียว มีข้อและปล้องชัด
ใบเดี่ยว เรียงสลับ กาบใบเป็นปลอกหุ้มรอบข้อสูง ประมาณ ๑ ซม. ที่กาบใบมีลายเส้นสีม่วงเป็นแนวตามยาวและมีขน ใบรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายแหลม โคนมน เบี้ยว ขอบเรียบ สีม่วงและมีขนประปราย เส้นกลางใบสีม่วง แผ่นใบด้านบนสีเขียวสลับแถบสีเงินและประสีม่วง ด้านล่างสีม่วงหรือม่วงสลับเขียว
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด มีใบประดับใหญ่ ๒ ใบ ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากันประกบหุ้มช่อดอกอ่อนไว้ ดอกสีขาวทยอยบานโผล่เหนือใบประดับ เมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงสีขาว บาง โคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก มีขนกลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดเรียว ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ ๓ กลีบ กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. กลีบเลี้ยงด้านบนสีม่วง ด้านล่างสีขาว เกสรเพศผู้ ๖ อัน ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขนยาวสีม่วง อับเรณูสีนวล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบขนาดเล็ก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก ผลเล็กมาก
ก้ามปูหลุดเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยจนแพร่หลาย ในต่างประเทศพบแพร่กระจายอย่างกว้างขวางอยู่ทั่วไป
ในไต้หวันใช้ใบพอกแก้บวม (Perry and Metzger, 1980).