ก้ามปูม้า

Monomeria barbata Lindl.

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง เหง้าเป็นเส้นกลมยาว มีหัวเทียมรูปไข่หรือรูปรี เรียงเป็นระยะห่าง ๓-๕ ซม. ใบออกที่ยอดมีเพียง ๑ ใบ รูปรีแกมรูปใบหอกกลับ โคนสอบเรียวยาวคล้ายก้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกจากโคนหัวดอกสีเหลืองหม่นมีประสีน้ำตาล

ก้ามปูม้าเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง เหง้าเป็นเส้นกลมแข็งทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีรากเป็นกระจุกเป็นระยะตามตำแหน่งที่มีหัว หัวเทียมรูปไข่หรือรูปรี มี ๑ ปล้อง สูง ๓-๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ผิวเรียบหรือเป็นสันร่องตามยาวในสภาวะแห้งแล้งระยะห่างระหว่างหัว ๓-๕ ซม.

 ใบออกที่ยอด ๑ ใบ รูปรีแกมรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียวยาวคล้ายก้าน แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายหนัง

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ เป็นช่อโปร่ง ออกจากโคนหัวเทียมอาจอยู่ในแนวตั้ง เอน หรือห้อยลง ทั้งช่อยาวประมาณ ๒๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวใกล้เคียงกับแกนกลาง ดอกสีเหลืองหม่นมีประสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง ขนาดประมาณ ๒.๕ ซม. กลีบเลี้ยงอันบนรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๗-๘ มม. มุมโคนกลีบมีติ่งเล็กปลายแหลม มักมีสีเหลืองล้วน กลีบเลี้ยงด้านข้างรูปซ้อน กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบด้านนอกม้วนบิดลง ผิวด้านบนมีขนละเอียด มีประสีน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลเกือบทั้งกลีบ โคนกลีบติดใกล้ปลายคางเส้าเกสร กลีบดอกด้านข้างสีเหลือง รูปสามเหลี่ยมฐานเบี้ยว สูงประมาณ ๒ มม. โคนกว้าง ๔-๕ มม. ติดทาบไปตามคางเส้าเกสร ขอบกลีบจักหรือมีขนสั้นกลีบปากอยู่ทางด้านล่าง สีแดงคล้ำ รูปลิ้น ปลายมน ด้านบนมีสันรูปตัววี ขอบสันจักละเอียด หูกลีบปากเป็นจะงอยเล็กโคนติดกับปลายคางเส้าเกสรแบบบานพับ เส้าเกสรสูง ๓-๔ มม. โคนยืดเป็นคางยาวและโค้ง ยาวประมาณ ๕ มม. ฝาปิดกลุ่มเรณูสีเหลือง กลุ่มเรณูมี ๔ กลุ่ม มีก้านและแป้นเหนียว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งทางด้านหน้าของเส้าเกสร ก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๒-๔ ซม. เรียงเกือบตั้งฉากกับแกนกลาง

 ก้ามปูม้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตามประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ก้ามปูม้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Monomeria barbata Lindl.
ชื่อสกุล
Monomeria
คำระบุชนิด
barbata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1799-1865)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง